top of page

เรื่องชิพ (Chip) หาย ที่อาจทำให้ใครหลายคนหาซื้อ MacBook หรือ iPad ไม่ได้

Updated: Dec 21, 2021

ขึ้นต้นมาเรื่อง ชิพหาย นี่หลายๆท่านอาจจะตกใจ แต่เราไม่ได้พูดจาไม่สุภาพแต่อย่างใดนะครับ

แต่กำลังจะเล่าเรื่องที่โลกนี้กำลังมีปัญหาเรื่องการขาดแคลนชิพ Chip Shortage (บทความนี้เขียนในช่วงเดือนต้นพฤษภา 2021) ในสิ้นสุดไตรมาส เดือน มีนาคม 2021 ที่ผ่านมา บริษัท Apple(AAPL) ประกาศผลประกอบการณ์ ที่น่าทึ่ง MacBook และ iPad ขายดีเติบโตสูงที่สุดในประวัติศาสตร์

(ในไตรมาสสิ้นสุดเดือนมีนาคม 2021 ผลิตภัณฑ์ Mac ยอดขาย 9.102 Billion USD iPad หรือประมาณ 3 ล้านล้านบาท เติบโต 70% นี่แค่ไตรมาสเดียวยอดขายมากกว่า 7-11 รวมกับ Makro ของบ้านเรารวมทั้งปี ถึงกว่า 5 เท่าตัวนี่แค่นับเฉพาะยอดขาย Mac ส่วน iPadยอดขาย 7.807 Billion USDเติบโต 78% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน) แต่ในช่วงรายงานผลประกอบการณ์ Tim Cook ได้แจ้งเพิ่มเติมว่า บริษัทจะไม่ถูกหยุดยั้งด้วย Demand แต่อาจจะถูกหยุดยั้งการเติบโตด้วย Supply (หมายถึงว่าความต้องการ MacBook และ iPad จะมีสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องแต่อาจจะผลิตไม่ทันแทน) โดยบริษัทกำลังจะมีปัญหาการขาดแคลนชิพ ที่ใช้ในการผลิต ซึ่ง อาจจะมีผลทำให้ยอดขายน้อยกว่าที่ควรจะเป็น 4-6 Billion USD (คิดเป็นเงินไทยก็ประมาณ 1.5-2 แสนล้านเลยทีเดียว) มันเกิดอะไรขึ้นกับการผลิตของโลกใบนี้เราจะเล่าให้ฟัง

ขอเล่าที่มาที่ไปของชิพ กันก่อน เราจะได้มองภาพได้เข้าใจง่ายขึ้น ไอ้ชิพ คอมพิวเตอร์เนี่ยเรามักจะรู้จักบริษัทที่ชื่อว่า Intel กับ AMD ซึ่งสองบริษัทนี้เป็นผู้บผลิต สองรายหลักของโลก แต่ชิพที่พวกเขาผลิตคือชิพที่เรียกว่า CISC (Complex Instruction Set Computer)ซึ่งเป็นชิพที่มีคุณภาพสูงให้ความเร็วมากๆ แต่ปัญหาของมันคือขนาดของตัวมันมักจะใหญ่สักหน่อยและกินไฟมาก ก่อนปี 2007 อุปกรณ์ที่ใช้ชิพเหล่านี้ก็คือคอมพิวเตอร์นั่นเอง เราจะคุ้นกับคำว่า CPU เป็น Intel นั่นเอง Intel เองก็เป็นผู้ดีไซน์และผลิตเจ้าใหญ่ที่สุดในโลก (ส่วน AMD ปัจจุบันก็ดีไซน์แต่ไม่ได้ผลิตเอง) ซึ่งคอมพิวเตอร์แม้จะกินไฟแต่ถ้าเทียบกับอุปกรณ์อื่นๆของบ้านต้องเรียกว่ากินไฟน้อยมากถ้าเทียบกับเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆในบ้าน ดังนั้นการผลิตเพื่อลดการกินกระแสไฟของชิพเลยแทบจะไม่มีความจำเป็น จนกระทั่งเราเริ่มใช้ Notebook และต่อมาคือ Smartphone ซึ่งทำให้มีชิพอีกชนิดหนึ่งเริ่มเข้ามามีบทบาทแทนนี่คือชิพแบบ RISC (Reduced Instruction Set Computer) ซึ่ง ชิพชนิดนี้ มีขนาดเล็กและกินไฟน้อยกว่ามาก ซึ่งถ้าเราใช้ชิพแบบเดิมคือแบบ CISC กับมือถือเราอาจจะมีปัญหาว่าเราอาจจะต้องชาร์จมือถือทุกๆสองชั่วโมงหรือว่าพก Power Bank ติดตัวตลอดเวลา ซึ่งไม่เวิร์คเอาซะเลย ทำให้ชิพแบบ RISC ซึ่งแต่เดิมมีลักษณะเป็นชิพที่เฉพาะตัวเพราะ เป็นชิพแบบ Custom เริ่มเข้ามาแทนที่

ชิพแบบ RISC ก็มีปัญหาหลายอย่าง ซึ่ง วิธีการผลิตแน่นอนว่ากลับไปที่ว่า ต้อง ดีไซน์และหาที่ผลิต ที่ผลิตที่ผลิตชิพแบบนี้มากที่สุดในโลกคือ

Taiwan Semiconductor Manufacturing Company Limited (TSM) ซึ่งเรามักจะเรียกติดปากว่าบริษัท TSMC ซึ่งครอบครองตลาดไปมากกว่า 50% ของโลกใบนี้ (รองลงมาคือ Samsung ) ซึ่งด้วยเทคโนโลยีของ TSMC ทำให้การผลิตชิพแบบนี้มีขนาดที่เล็กมากและกินไฟน้อยมากๆ ซึ่งทำให้ TSMC กลายเป็นบริษัทแห่งชาติของไต้หวันเลยทีเดียว โดยมีมูลค่าประมาณ 550 Billion USD หรือประมาณ 17 ล้านล้านบาทซึ่งใหญ่กว่า บริษัทที่ใหญ่ที่สุดของไทยอย่าง ปตท มากกว่า 10 เท่า และมีมูลค่าเทียบเท่ากับตลาดหลักทรัพย์ไทยทั้งตลาดเลยทีเดียว และแน่นอนมีมูลค่ามากกว่าเจ้าตลาดเดิมที่ผลิตชิพแบบ CISC คือ Intel มากกว่าเท่าตัวเลยทีเดียว ทั้งที่ TSMC ผลิตเท่านั้นไม่ได้ดีไซน์ หรือถ้าดีไซน์เองก็น่าจะมีจำนวนไม่มากนัก(Intel ทั้งดีไซน์และผลิตได้ด้วยตัวเอง) คราวนี้ใครล่ะเป็นคนดีไซน์ ชิพเหล่านี้ การดีไซน์ชิพชนิดใดชนิดหนึ่งขึ้นมาต้องใช้ความรู้และการพัฒนาที่สูงมากๆ โดยบริษัทที่ชื่อว่า ARM ได้พัฒนารูปแบบที่ทำให้คนสามารถดีไซน์ตัวชิพเองได้ง่ายขึ้น ดังนั้นในปัจจุบัน บริษัทต่างๆก็จะใช้รูปแบบของ ARM ในการดีไซน์และส่งไปให้ TSMC ผลิต ซึ่ง ARM ก็จะได้รับรายได้จากการขายสิทธิบัตรให้คนนำไปดีไซน์ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ Apple ซึ่งในปี 2021 ก็ได้ออกผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่คือ MacBook ที่ใช้ชิพ M1 ซึ่งดีไซน์โดยใช้แพลตฟอร์มของ ARM แล้วนำไปผลิตที่ TSMC แทนที่การใช้ชิพจาก Intel ซึ่งเป็นชิพที่กับคอมพิวเตอร์มาตลอด และปรากฏยอดขายถล่มทลายอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เนื่องจากความที่ดีไซน์เองทำให้ความเข้ากันของ CPU กับฮารด์แวร์และซอร์ฟแวร์ต่างๆเข้ากันได้อย่าง 100% (ลองคิดดูว่าถ้า Intel ต้องผลิตชิพที่สามารถทำงานร่วมกับฮาร์ดแวร์กับซอร์ฟแวร์แทบทุกอย่างได้ ความเข้ากันหรือ Compatibility ย่อมไม่สมบูรณ์ 100% อยู่แล้ว) และกินไฟน้อยลงไม่ค่อยต้องชาร์จ ตัวเครื่องไม่ร้อน ทำให้ผู้ที่ใช้งานประทับใจในคุณภาพของ MacBook M1 อย่างมากและเกิดยอดขายถล่มทลายอย่างที่กล่าวมา จนในช่วงเดือนเมษา ทาง Tim Cook ก็ออกมาประกาศถึงผลิตภัณฑ์ ใหม่ๆ ซึ่งก็คือการเปลี่ยนอุปกรณ์แทบทุกอย่างทั้ง MacBook iPad และสารพัดผลิตภัณฑ์ของ Apple จากชิพ Intel มาเป็น M1 ซึ่งเป็นชิพที่ดีไซน์เองโดยใช้แพลตฟอร์มของ ARM และผลิตที่ TSMC อย่างที่เล่าแล้วนั่นเอง (ปัจจุบัน ARM เป็นส่วนหนึ่งของ บริษัท NVIDIA )

แล้วปัจจุบันชิพอยู่ในอุปกรณ์อะไรบ้าง แต่เดิมอย่างที่เล่ามาชิพอยู่ในคอมพิวเตอร์แต่ปัจจุบัน อุปกรณ์ที่เรียกว่า Smart Device หรือพวก IoT(Internet of thing) คืออะไรก็ตามที่ต่อกับอินเตอร์เน็ตได้ใช้ชิพทั้งหมด เช่น ทีวี โมเดม สมาร์ทโฟน เรียกว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าในปัจจุบัน แทบจะใช้ชิพทั้งหมด ซึ่งเป็นชิพแบบ RISC ที่เล่ามาเป็นส่วนมาก ส่วนชิพแบบ CISC ก็มักจะอยู่บนตระกูล Computer และ server เป็นหลักเหมือนเดิม แม้กระทั่งรถยนต์ไฟฟ้าคันหนึ่งก็มีการประเมินว่าต้องใช้ชิพหลายร้อยตัวเลยทีเดียว ทำให้ความต้องการชิพเพิ่มขึ้นรวดเร็วและมหาศาลมาก ยิ่งถ้าเราใช้ 5G กันมากขึ้นเรื่อยๆลองจินตนาการตามจะเห็นได้ชัดเลยว่า การดีไซน์ชิพและการผลิตชิพจะเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณเลยทีเดียว นึกภาพตามแล้วจะเห็นว่าความยิ่งใหญ่ของ TSMC ในฐานะผู้ผลิตและ NVIDIA ผู้ถือครอง ARM แพลตฟอร์มการดีไซน์ จะยิ่งใหญ่ขนาดไหน



ปัญหาก็เลยกลายเป็นว่าตอนนี้มีปัญหาเรื่องการผลิตเพราะ ความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และปัญหาเรื่องโควิดที่ทำให้การผลิต และการขนส่ง ทำไม่ได้ตามปกติ ทำให้บริษัทต่างๆไม่ใช่แค่บริษัทคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟน ต้องเจอกับปัญหาล่าช้าในการผลิตไปทั่วโลก เราไม่สามารถบอกได้ว่า ปัญหาการขาดแคลนชิพ หรือ Chip Shortage เกิดจาก ความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมากหรือว่าเพราะปัญหาการผลิตเพราะติดโควิด มากกว่ากัน แต่เราบอกได้ว่าสองสิ่งนี้ทำให้ Tim Cook ถึงกับออกมาบอกว่าเราอาจจะหาซื้อ Mac ได้ลำบากมากขึ้นเพราะผลิตได้ไม่เป็นไปตามแผนนั่นเอง

บทความนี้เราอยากนำเสนอมุมมองเรื่อง Chip Shortage และประวัติความเป็นมาคร่าวๆของชนิดต่างๆชองชิพ และ บริษัทผู้ผลิตและผู้ดีไซน์ต่างๆ เพราะทั้งมุมมองในอนาคตของอุปกรณ์รอบๆตัวเรา เพื่อนๆมีความเห็นยังไงบ้าง แชร์ให้เราฟังกันบ้างนะ

 

ติดตาม และอ่านบทความอื่นๆของพวกเรา Frisbee & Co. ได้ที่ LINE Official: @frisbee Twitter: @FrisbeeCo Website: frisbeeandco.com

Commenti


bottom of page