top of page
  • Writer's pictureFrisbee & Co.

วัดระดับความเป็นนักลงทุนของคุณ

Updated: Dec 21, 2021

บทความนี้เป็นการวัดคร่าวๆหรือเรียกว่าแนะนำคร่าวๆว่าคุณอยู่ระดับไหน หรือว่าผู้บริหารกองทุนที่คุณลงทุนด้วยอยู่ในระดับไหน หลายๆท่านถามเรามาว่า จะรู้ได้อย่างไรว่าผู้บริหารกองทุนที่เราลงทุนด้วยเก่งพอหรือเปล่า ตัวจริงหรือเปล่า หรือหลายๆคนศึกษาและอยากเป็นนักลงทุน อยากรู้ว่ามาถูกทางหรือเปล่า บทความนี้น่าจะช่วยคุณได้


เราจะวัดระดับของนักลงทุนของเราหรือผู้บริหารกองทุนของเราในแนวทางที่ นิยามว่า นักลงทุนคือ นักลงทุนแบบเน้นที่การซื้อกิจการ เน้นพื้นฐานกิจการ หรือบางคนเรียกว่า นักลงทุนแบบเน้นคุณค่า Value Investor (ส่วนตัวแล้วเราไม่ได้ชอบคำนี้เท่าไหร่เพราะมันมีนักลงทุนแบบที่ไม่เน้นคุณค่าด้วยหรือ แต่ช่างเถอะแค่ชื่อ) เราไม่ได้พูดถึงนั กลงทุนแบบเทรดเดอร์ ซื้อขายรายวันหรือว่าพวกใช้กราฟ เนื่องจากเราไม่ได้มีความรู้หรือความเข้าใจในเรื่องการเทรด และไม่ได้มีความสนใจใดๆในเรื่องกราฟหรือการเทรด วิธีวัดเราจะวัดระดับความเป็นนักลงทุนของคุณด้วยแหล่งความรู้หลักของคุณ หรือสิ่งที่คุณอ่านซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากและอาจจะสำคัญที่สุด


ที่มาของความรู้ โดยเฉพาะสิ่งที่คุณอ่าน จะบอกระดับความสามารถหรือระดับของคุณได้เป็นอย่างดี ดังคำว่า You Earn What You Learn คือคุณเรียนรู้อะไรคุณจะได้ผลลัพธ์สิ่งนั้น รูปที่ 1 เหมือนที่ Warren Buffet เตือนนักลงทุนเสมอๆ ว่า The best Investment you can make is an investment in your self คือการลงทุนที่ดีที่สุดคือการลงทุนในตัวเอง นั่นคือการศึกษาการอ่านหรือการศึกษานั่นเอง ตัว Buffet เองก็อ่านหนังสือทุกๆวันวันละเป็นร้อยๆหน้าเช่นกัน แล้วคุณอ่านอะไรคุณจะได้สิ่งนั้น ดังนั้นเราจะตรวจสอบตัวเราหรือนักลงทุนที่เราลงทุนด้วยสิ่งแรกคือการอ่านว่าเขาอ่านอะไรและมากน้อยแค่ไหน (มาถึงจุดนี้ถ้าคุณคิดว่าจะรีบกลับไปอ่านหนังสือคุณก็ประสบความสำเร็จแล้ว) มาดูกันต่อว่าอ่านอะไรคุณคือใครกันดีกว่า


1. อ่านหนังสือประเภท How to เป็นสิ่งที่คนที่อยากเป็นนักลงทุนทั่วไปเริ่มอ่าน ถ้าหนังสือส่วนใหญ่ที่คุณอ่านหรือว่าความคิดส่วนใหญ่ที่คุณพูดมาจากสิ่งเหล่านี้แล้วล่ะก็ คุณคือ นักพูดหรือนักโต้วาที หรืออาจจะเรียกภาษาเท่ๆว่าไลฟ์โค้ชก็ได้ ลองคิดภาพสิว่าถ้าคุณอ่านหนังสือว่า เป็นหมอดียังไง อ่านไปสัก สิบเล่มคุณก็ไม่ได้ใบปริญญาบัตร หรือว่า ใบประกอบวิชาชีพแพทย์หรอก คิดว่าอ่านให้ตายคุณจะผ่าตัดเป็นแบบหมอผ่าตัดมั๊ย เราไม่ได้บอกว่าหนังสือพวกนั้นไม่ดี แต่ส่วนใหญ่มันแค่สร้างแรงบัลดาลใจ

ถ้าคุณอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ คุณแค่อ่านประวัติไอน์สไตน์จบ แต่คุณไม่ได้เป็นนักวิทยาศาสตร์ ถ้าคุณอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์คุณอาจจะต้องไปเรียนคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ หรืออะไรทำนองนั้น ซึ่งบอกตามตรงหนังสือพวกนั้นมันไม่สนุก แค่เริ่มคิดก็อยากจะหลับแล้ว คนเลยไม่ค่อยอ่าน เชื่อได้เลยคนส่วนใหญ่ที่มาเจอคุณเวลาขายกองทุนมักจะเริ่มด้วยบทความใดบทความหนึ่งหรือว่า คำคมๆหรูสักคำในหนังสือสักเล่ม ซึ่งถ้ามาแนวนั้นส่วนใหญ่เขาคือ “นักพูด” เชื่อมั๊ยว่าเรามีประสบการณ์ได้เจอคนแบบนี้จำนวนมาก บางทีทำคลิปสอนก็มีบางทีเป็นคอร์สสอนบางทีตั้งตัวเป็นกูรูก็บ่อยๆ คนพวกนี้จะพูดเก่งพูดได้หลายๆชั่วโมง โต้ตอบกับคนธรรมดาได้เก่งมาก (แต่พวกนี้มักจะเลี่ยงการโต้ตอบกับคนที่ศึกษากิจการจริงๆ) แต่ลองถามว่าวันหนึ่งอ่านหนังสือกี่ชั่วโมง นี่เขามักจะเริ่มอึกอัก ถามเรื่องกิจการที่เขาซื้อเขามักจะตอบได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่ที่มักจะเจอคือแทบไม่เคยใช้บริการกิจการที่ตัวเองเข้าไปลงทุน


เราเคยเแม้กระทั่งว่า ซื้อหุ้น Disney แต่ไม่เข้าไปดู Mulan ซึ่งเป็นหนังฟอร์มยักษ์ของบริษัทในปี 2020 ศึกษา Streaming แต่ไม่ได้ดู Netflix สนใจบริษัท E-commerce ในประเทศจีนแต่ไม่เคยซื้อของจากจีน หรือตลกร้ายสุดๆอันหนึ่ง คือลงทุนใน Amazon แต่ไม่รู้จัก AWS (Amazon Web Service) ซึ่งทำกำไรให้ Amazon อย่างมากมาย หรือเข้าใจว่าคู่แข่งของ AWS คือ iCloud ของ Apple Inc ซึ่งมันคนละเรื่องกันเลย ลองอ่านบทความสั้นๆนี้ดู แล้วคุณจะเข้าใจว่า AWS ที่เราพูดถึงคืออะไร คลิก

คนพวกนี้อาจจะหลอกตัวเองและสาวกได้เรื่อยๆ (ทักษะสูงสุดของเขาคือการหลอกตัวเองก่อน แล้วจะเริ่มหลอกคนรอบๆข้างโดยไม่รู้ตัว) แต่อย่าให้เขาหลอกคุณเด็ดขาด ผู้บริหารกองทุนหลายคนรู้จักบริษัทน้อยกว่าลูกค้าซะอีก ถ้าคุณอยากเป็นนักลงทุน คุณอ่านหนังสือประเภทนี้ได้แต่อย่าให้มันเป็นสาระสำคัญหลักในสมองคุณ มันให้ไอเดียแต่คุณต้องหาความรู้เพิ่มด้วย แค่ไอเดียไม่ได้ทำให้คุณเป็นนักลงทุน

2.อ่านฟีดในเฟสบุ๊ค ถ้าสิ่งที่คุณอ่านคือฟีดต่างๆในเฟสบุ๊คหรือ Social Media ทั้งหลาย คุณคือ นักลงทุนแบบแม่บ้าน หรือนักวิเคราะห์แบบสภากาแฟ คือ เนื้อข่าวพวกนั้นอ่านได้ แต่มันเป็นแค่ความคิดของใครคนใดคนหนึ่ง ซึ่งอาจจะเก่งหรือไม่เก่งก็ได้ แล้วรายละเอียดที่ได้มาจะจริงหรือไม่จริงก็ได้ ส่วนใหญ่ที่เจอบ่อยๆ คือบทความที่เอาความจริงมาใส่สักหน่อยหนึ่งแล้วหลังจากนั้นก็ใส่ความเห็นเข้าไปอีกเพียบ พวกนี้จะอ่านสนุกเพราะดรามาเยอะ เล่าเรื่องมันส์ แต่บางทีบทสรุปที่เขาเขียนกับความจริงที่ยกมากล่าวอ้างมันคนละเรื่องกันเลย สำหรับพวกฟีดพวกนี้อ่านเอาสนุกเป็นเครื่องมือในการเข้าใจกิจการอย่างง่าย นั่นคือทั้งหมดที่ฟีดพวกนั้นให้ อีกแบบที่เจอบ่อยมากๆคือพวกสำนักข่าวหรือบล็อคการลงทุนในประเทศไทย คนเขียนฟีดพวกนั้นส่วนใหญ่ที่เจอคือ นักแปล ไม่ใช่นักลงทุน ถ้าคุณอ่านข่าวจากสำนักข่าวเกี่ยวกับการลงทุนในต่างประเทศ ในตอนเช้า พอสายๆ คุณลองเปิดเฟสบุ๊คมาดูคุณจะพบว่าเขาแปลข่าวที่คุณอ่านมานั่นล่ะข่าวเดียวกันแทบทุกวัน อีกแบบคือพวกนักการตลาด คือรับเขียนอวยหุ้น พวกนี้ก็รับจ้างเขียนให้มันดูดี ถามว่าผิดมั๊ย ไม่ผิดนะ ให้รายละเอียดในแง่มุมที่บริษัทต้องการจะสื่อด้วย สิ่งที่เราควรทำคือเราจะได้รู้ว่าบริษัทมีนิสัยการสื่อสารเป็นยังไง บ่งบอกนิสัยผู้บริหารได้ดีเลยทีเดียว


3. อ่านข่าวจากสำนักข่าวต่างๆ อ่านบทวิเคราะห์ ทั้งในและต่างประเทศ อันนี้เป็นระดับที่

คุณคือนักข่าว คือแนะนำให้อ่านข่าวพวกนี้เป็นประจำทุกวันยิ่งดี แต่ว่ามันไม่ได้เป็นการศึกษากิจการเป็นหลักแน่ๆ เพราะถ้าการอ่านข่าวแล้วเราเอาข่าวมาลงทุนได้ นักข่าวที่เขียนก็กลายเป็นนักลงทุนไปหมดแล้ว เราอ่านข่าวข้อควรระวังคือ ข้อเท็จจริงกับความเห็น ส่วนใหญ่ในข่าวมักจะมีเนื้อหาข้อเท็จจริงน้อยกว่าความเห็นค่อนข้างมาก ส่วนบทวิเคราะห์ ต้องดูเป็นรายๆไป ส่วนใหญ่ทีมักจะเจอคือลอกกันมาอ่านสักสามสี่บทวิเคราะห์ก็เขียนคล้ายๆกันหมด เพราะแหล่งที่มาของนักวิเคราะห์ก็มักจะมีแหล่งที่มาเดียวกันแม้ว่าจะไม่ได้ลอกกันก็เขียนคล้ายๆกันเพราะว่าเหมือนฟังข่าวเดียวกันมา นักวิเคราะห์ที่เขียนมาเจ๋งๆมีมั๊ย บอกได้เลยว่ามีแต่ไม่มาก แต่ถ้ามีแนะนำให้คุณติดตามเขาเรื่อยๆ คนพวกนี้เรามักจะติดตามเขาได้ไม่นาน เพราะเขามักจะโดนเลื่อนตำแหน่งขึ้นไปอย่างรวดเร็วเพราะความสามารถสูงเกินกว่าจะเป็นแค่นักข่าวหรือว่านักเขียน


4.ประชุมหรือนั่งฟังทีมงานต่างๆแทนการอ่านหนังสือ ถ้างานหลักของคุณคือการประชุม คุณก็เป็น นักประชุม หรือนักลอกการบ้าน ไม่ใช่นักลงทุน งานหลักของผู้บริหารกองทุนหลายๆคนคือ การประชุม บ่อยครั้งที่ประชุมกันเพื่อแชร์ความรู้ ซึ่งส่วนใหญ่ให้น้องๆแชร์ให้พี่ๆฟัง แล้วพี่ๆก็คอมเม้นน้องๆ ฟังแล้วดูดีแต่จริงๆแล้วน้องนั่นล่ะสอนพี่ เพราะน้องอ่านมา ส่วนพี่ไม่ได้อ่านแค่นั่งฟังแล้วให้คอมเม้นแบบโก้เก๋แค่นั้น ถ้าใครต้องเล่าสิ่งที่อ่านมาให้หัวหน้าฟัง จงรู้ไว้ว่าคุณกำลังสอนหัวหน้าอยู่ เขามักจะแค่ทวนสิ่งที่เราพูดไปมาสอนเราอีกรอบ ส่วนใหญ่ก็แค่สรุปความที่เล่าให้เขาฟังนั่นล่ะ หรือแค่ให้คำแนะนำเพื่อความดูมีความรู้สักหน่อย ไม่มีใครเก่งด้วยการประชุม คนที่เริ่มทำงานไปสักพักจะรู้สึกว่ามีงานประชุมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แล้วรู้สึกว่าการประชุมคืองาน นั่นุณเริ่มมาผิดทางแล้วล่ะ ช่วงที่คุณประชุมคุณจะไม่ได้ทำงานเลย การประชุมไม่ใช่การทำงาน บริษัทระดับโลก พยายามลดงานประชุมทั้งสิ้น การจะขอให้ผู้บริหารระดับสูงเข้าประชุมมักจะต้องมีเหตุอันควรจริงๆ ไม่อย่างนั้นมันเสียเวลา การประชุมทั่วๆไปมันมักจะแค่สนามเด็กเล่นของคนอายุประมาณ 40-50 ได้สร้างคุณค่าให้ตัวเองเท่านั้น หนักกว่านั้นบางคนเสียเวลาหลักไปกับการประชุมในระบบริษัทที่มีแต่เรื่องของเอกสาร พวกนี้บอกได้เลยว่าไม่มีประโยชน์ใดๆต่อการเป็นนักลงทุนของคุณแต่ว่ามันดูเหมือนได้ทำงานเยอะมากๆ บางคนทำเอกสารไปห้าปีแล้วแทบไม่ได้อ่านหนังสืออะไรเลยคิดว่าตัวเองเป็นนักลงทุนหรือว่าทำงานลงทุนหนักมากเราก็เจอมาแล้วเหมือนกัน


5. หนังสือการลงทุนที่ทั่วโลกยอมรับ ที่นิยมพูดถึงกันมากๆก็มีหลายเล่ม หนึ่งในเล่มที่สำคัญที่สุดคือ The Intelligent Investor ของ Benjamin Graham ต้องบอกว่าหนังสือพวกนั้นคือศาสตร์การลงทุน เราคงบอกไม่ได้ว่าถ้าคุณอ่านหนังสือพวกนั้นจบคุณจะเป็นนักลงทุน แต่ถ้าคุณไม่อ่านหนังสือพวกนั้นคงยากที่คุณจะเป็นนักลงทุน (Benjamin Graham เป็นอาจารย์ของ Warren Buffet และหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ Buffet เองชื่นชอบและมีอิทธิพลต่อการลงทุนของเขาอย่างมาก)


หนังสือพวกนั้นมักจะเขียนโดยนักลงทุนที่เป็นนักลงทุนระดับตำนาน แต่บางครั้งก็ลงลึกบ้างไม่ลงลึกบ้าง แต่สำหรับ The Intelligent Investor นี่ต้องอ่านจริงๆ เป็นหนังสือที่อ่านยากพอสมควร เรื่องราวที่เกิดขึ้นมักจะเป็นเรื่องราวช่วงหลังสงครามโลกไปจนถึงปี 1960 1970 ซึ่งในหนังสือเป็นแนวทางที่เกิดจากการเก็บรวบรวมทำวิจัย ถ้าในแง่ความสนุกต้องบอกว่ามันไม่สนุกเอาซะเลย แต่ถ้าในแง่ของเนื้อหาต้องบอกว่ามันเป็นการรวบรวมเอาความจริงจำนวนมากมาตีแผ่ให้เราดูโดยที่ใส่ความเห็นลงไปน้อยมากๆ เราขอเรียกว่าถ้าคุณอ่านหนังสือพวกนั้นจบสักสองรอบ คุณเริ่มเข้าใจการลงทุนแล้วล่ะ อ่านมาถึงตรงนี้หลายๆท่านอาจจะอยากไปลองซื้อ มาอ่านดู เราขอให้กำลังใจว่าท่านอาจจะต้องทนอ่านหลับๆตื่นๆหลายรอบ แต่ถ้าผ่านไปได้คุณจะเห็นภาพขึ้นอีกมาก (ป.ล. ทีมงานเองก็อ่านหลายรอบและหลับๆตื่นๆไม่รู้กี่รอบเช่นกัน)


6. รายงานประจำไตรมาสและรายงานประจำปี ถ้าสิ่งที่คุณอ่านเป็นหลักคือสิ่งเหล่านี้ คุณคือนักลงทุน ในทุกๆสามเดือนหรือไตรมาส บริษัทต่างๆ จะออกแถลงการณ์ ซึ่ง ใน US จะมีแถลงการณ์แบบสั้นๆ ซึ่งส่วนใหญ่ประมาณ 10 หน้า แล้วก็แบบยาว หรือที่เรียกว่า 10-K หรือ 10-Q พวกนั้นจะให้รายละเอียดบริษัทอย่างแท้จริง



ลองง่ายๆเราขอเวลาคุณสัก 10-15 นาที ลองอ่าน จดหมายที่ Jeff Bezos เขียนถึงผู้ถือหุ้น ที่นี่ คลิก จดหมายฉบับนี้เป็นส่วนหนึ่งในรายงานประจำปี หลังจากคุณอ่านมันจบ ซึ่งเราแปลมาให้คุณอ่านได้ง่ายแล้วคุณจะเข้าใจได้ทันทีว่า การอ่านรายงานพวกนั้นมีประโยชน์แค่ไหน นี่เป็นส่วนหนึ่งด้านหน้าของรายงานเท่านั้น คุณจะไม่มีวันเข้าใจบริษัทจริงๆจนกว่าจะได้อ่านสิ่งเหล่านั้น (บางทีบางบริษัทอ่านหมดยังไม่เข้าใจเลยแต่ถ้าไม่ได้อ่านโอกาสที่เข้าใจยิ่งลำบากขึ้นไปอีก) ซึ่งมักจะมีความยาว 50-100 หน้าโดยประมาณ แล้วแต่บริษัท ลองดู ตัวอย่าง 10-K ของบริษัท Apple ปี 2020 คลิก


นอกจากนั้นหลังจากประกาศผลประกอบการณ์รายไตรมาส ผู้บริหารบริษัทต่างๆมักจะออกมาให้รายละเอียดเพิ่มเติม เป็นคล้ายๆงานแถลงข่าว ซึ่งเป็นสิ่งที่พลาดไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง ทั้งหมดต่อบริษัทและต่อไตรมาส เรามักจะมีเรื่องให้อ่านประมาณ 300-400 หน้า เชื่อมั๊ยว่าถ้าเราอ่านประจำมัน มันจะอ่านได้เร็วขึ้นเรื่อยๆ ปีหนึ่งต่อกิจการก็อาจจะมีเรื่องให้อ่านประมาณ 1,000-1,500 หน้าโดยประมาณ เรื่องน่าตลกคือ กูรูหรือว่าผู้บริหารกองทุนบางคนไม่ได้อ่านเลยสักหน้า เราเคยเจอหลายคนที่ทำตัวเป็นกูรูนักลงทุนแต่เกือบสิบปีหลัง เขาไม่เคยอ่านรายงานประจำไตรมาสเลยด้วยซ้ำ ส่วนใหญ่อ่านสรุปสั้นๆ อ่านข่าว หรือไม่ก็ให้น้องๆในทีมเล่าให้ฟัง พวกนี้มักจะไปตกที่ข้อแรกคือ เป็นนักพูด อยากย้ำอีกครั้งว่า You Earn What You Learn หลายๆครั้งเราเจอนักลอกการบ้าน คือไปฟังคนอื่นพูดว่าดีแล้วเขาก็มาพูดเหมือนเป็นคำพูดของตัวเองพวกนี้อันตรายมาก แยกง่ายๆด้วยการอ่านรายงานพวกนี้ ข้อแนะนำสำหรับการอ่าน ส่วนใหญ่แล้วเรามักจะมีสมาธิอ่านหนังสือไม่เกินวันละ 1-2 ชม สำหรับหนังสือพวกนี้


แนะนำให้เอาเวลาที่ดีที่สุดมาอ่าน ซึ่งมักจะเป็นเวลาสักประมาณ 10.00-12.00 น. ลองทำดูเรื่อยๆ แล้วคุณจะเริ่ม เข้าใจว่าการลงทุนในตัวเองคืออะไร พออ่านไปเรื่อยๆสักระยะ มันจะเริ่มสะสมความรู้ไปเรื่อยๆ ก่อนที่เราจะสามารถทำเงินทบต้นได้ ก่อนอื่นต้องทำความรู้ให้ทบต้นให้ได้ก่อน ถ้าเรามีวินัยกับมันสักระยะ มันจะคล้ายๆกับการที่เราออกกำลังกายเป็นประจำต่อเนื่อง มันจะแข็งแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ในการออกกำลังกายสมองก็เช่นเดียวกัน สิ่งนี้นักลงทุนผู้ยิ่งใหญ่หลายๆคนก็แนะนำและปฎิบัติเช่นนี้เหมือนกัน แต่เชื่อมั๊ยว่าพอพูดเรื่องนี้เสร็จหาคนยอมทำตามแทบไม่เจอ เพราะมันไม่ดรามา ไม่มีทางลัด มีแต่ความจริง และการทำงานอย่างเป็นระบบ การเป็นนักลงทุนพูดแล้วมันตรงไปตรงมาอย่างมากแต่คนไม่ยอมทำ


มักจะเลือกวิธี นักพูด นักข่าว นักลอก ซะมากกว่าหรือแนวทางที่คนชอบทำคือ ไปฟังคนอื่น นั่งคุยกับคนอื่นที่อ่าน หรือว่าไปอ่านที่เขาเขียนสรุป บอกได้เลยว่าพวกนั้น ไม่ใช่นักลงทุน เพราะไม่งั้นคุณฟังหมอสรุปวิธีความเป็นหมอคุณก็คงเป็นหมอได้แล้วสิ ซึ่งบอกเลยว่าตรงนี้ไม่มีทางลัด มีแต่ทางตรง สั้นๆง่ายๆ คือการอ่านเองเท่านั้น การพูดคุยแลกเปลี่ยนดีแน่นอน แต่คุณต้องอ่านเองเป็นหลักอยู่ดี ไม่งั้นคุณไม่ได้กำลังแลกเปลี่ยนคุณกำลังให้เขาสอนหรือคุณกำลังลอกการบ้านอยู่ ซึ่งคนลอกการบ้านไม่มีวันเข้าใจเองเหมือนการทำเองแน่นอน


สิ่งที่น่าประหลาดคือยิ่งเมื่อคุณสะสมความรู้ไปมากเท่าไหร่ คุณจะยิ่งรู้สึกว่าตัวเอง โง่ลงเรื่อยๆ ย้ำอีกครั้งว่าโง่ลงเรื่อยๆ ไม่ได้พูดผิด คือคนยิ่งรู้มากจะยิ่งรู้ว่าสิ่งที่ไม่รู้ยิ่งเยอะขึ้นเรื่อยๆ คนรู้น้อยเขารู้สึกว่าตัวเองรู้มากแค่เพราะเขาไม่รู้ว่ามีอะไรบ้างที่เขายังไม่ได้เรียนรู้ ยิ่งรู้มากจะยิ่งรู้สึกตัวเองรู้ไม่มาก นั่นคือปกติ ถ้าเมื่อไหร่คุณรู้สึกว่าตัวเองรู้มากมักจะมีอะไรผิดปกติในตัวคุณแล้วล่ะ อย่างลืม Stay Foolish Stay Hungry (จงกระหายและทำตัวโง่ตลอดเวลา) วลีเด็ดที่ สตีฟ จ็อบ เคยไปพูดที่มหาวิทยาลัยสแตนด์ฟอร์ด ปี 2005 ที่มีการตีพิมพ์ไปทั่วโลก ใช้ได้เสมอ


7. เรียนรู้จากการปฎิบัติจริง อันนี้ไม่ใช่การอ่าน แต่เรามองเป็นกระบวนการการเรียนรู้สำคัญ เลยเอามาลงในหัวข้อเดียวกับการอ่าน เช่นถ้าคุณ สนใจในหุ้น Facebook แล้วคุณเป็นคนขายของออนไลน์บน Facebook อยู่แล้ว คุณจ่ายเงินโปรโมทไปกับมันทุกวัน คิดดูว่าคุณจะเข้าใจกิจการมากขนาดไหน ถ้าคุณไม่เพียงแค่อ่านแต่คุณได้ลงมือทำจริงๆ ไม่ว่าจะทำงานที่เกี่ยวข้องกับบริษัท เป็นลูกค้าบริษัท คุณจะจัดอยู่ในกลุ่มที่ ซื้อหุ้นเหมือนเป็นเจ้าของกิจการ อย่างแท้จริง ในปัจจุบัน เราเชื่อว่า พัฒนาการด้านการลงทุนมาไกลถึงในจุดที่เรียกว่า ไม่ใช่แค่ควรถูกบริหารด้วยข้อมูลระดับนักวิเคราะห์ แต่ควรถูกดูแลด้วย ผู้เชี่ยวชาญของแต่ละประเภทธุรกิจหรือเรียกว่า ไม่ได้ลงทุนด้วย Analyst แต่ลงทุนด้วย Specialist การที่เราใช้ชีวิตประจำวัน เชื่อเถอะว่าเราเกิดความเป็น Specialist อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว บางคนอาจจะชอบการออกกำลังกาย คุณอาจจะเชี่ยวชาญเรื่องเสื้อผ้าออกกำลังกายมากอย่างที่คุณไม่เคยสังเกตก็เป็นได้ ลองคุณจินตนาการว่าคุณลงทุนในสิ่งที่คุณทำมันประจำแล้วล่ะ บางทีคุณแทบจะไม่ต้องหาข้อมูลเลยก็เป็นได้ เพราะมันอยู่ในส่วนลึกของตัวคุณทั้งหมดอยู่แล้ว ลองคิดภาพว่าติ่งดาราเกาหลีลงทุนในค่ายเพลงเกาหลีหรือค่าย Production เกาหลี เราเคยเจอคนเหล่านั้น ต้องบอกว่าเขาแทบจะรู้เลยด้วยซ้ำว่าดาราในค่ายไปทำอะไรที่ไหน คิดดูสิว่ามีนักวิเคราะห์คนไหนรู้แบบนั้นบ้าง จำชื่อดาราในสังกัดได้ก็เก่งแล้ว แต่ถ้าระดับติ่งนี่ คุณจะเจอความเข้าใจในกิจการแบบลึกซึ้งชนิดที่ว่าคุณนึกไม่ถึงเลยแล้วกัน ดังนั้นที่สุดกว่า Analyst ก็คือ Specialist ถ้าสุดกว่า Specialist คือคุณเป็นติ่ง พวกนั้นบ้าคลั่งและเรียนรู้หนักเกินจินตนาการ


จริงๆแล้วนอกจากสิ่งนี้ยังมีสิ่งสำคัญหลายอย่างที่วัดความเป็นนักลงทุน เช่นระยะเวลาการซื้อขายหุ้น สิ่งที่ทำในชีวิตประจำวัน แต่เราขอยกสิ่งที่สำคัญสุดๆเพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฎิบัติได้ง่าย


ตัว Buffet เองก็อ่านหนังสือทุกๆวันวันละเป็นร้อยๆหน้าเช่นกัน ถ้าคุณจะเป็น Buffet คุณคงต้องเริ่มอ่านแล้วล่ะ เราเจอนักลงทุนบางคนพูดแต่ว่าจะเป็น Buffet แต่พอถามว่าอ่านแบบ Buffet มั๊ยกลับบอกว่าไม่จำเป็นหรือว่าไม่รู้หรอกว่าเขาอ่านจริงหรือเปล่า ถ้าคุณจะเป็นนักลงทุน คุณก็ควรจะอ่านหรือศึกษาแบบเดียวกับนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จทำ ถ้าคุณจะลงทุนผ่านกองทุนหรืออะไรก็แล้วแต่ คุณก็ควรจะตรวจสอบว่าคนที่คุณลงทุนด้วยได้ทำสิ่งที่เหมาะสมกับการเป็นนักลงทุนอย่างเพียงพอหรือเปล่า ถ้าคุณได้ลองสอบถามดูคุณอาจจะตกใจอย่างมากว่า ผู้บริหารกองทุนของคุณงานหลักคืองานเอกสารหรือการขายกองทุน ไม่ใช่การอ่านรายงานประจำปีก็เป็นได้ เพื่อนๆล่ะ อ่านหรือศึกษาถึงระดับไหน หรือผู้บริหารกองทุนที่คุณลงทุนด้วยเขาศึกษาอยู่ระดับไหน



 

ติดตาม และอ่านบทความอื่นๆของพวกเรา Frisbee & Co. ได้ที่ LINE Official: @frisbee Twitter: @FrisbeeCo Website: frisbeeandco.com


85 views0 comments

Frisbee & Co. I Investment I Business I Financial

bottom of page