คำนำจากผู้แปล
ในช่วงเดือนเมษายนของทุกๆปี บริษัทในตลาดหุ้น จะออกรายงานประจำปี (Annual Report) ในปีที่แล้วออกมา ปีนี้ก็เช่นกัน ในช่วงเดือนเมษายน ปี 2021 ก็จะออกรายงานประจำปีของปี 2020 ออกมาโดยเนื้อหาในช่วงแรก ผู้บริหารจะเขียนแนวทางวิสัยทัศน์ที่ต้องการสื่อสารไว้ เรียกว่า จดหมายถึงผู้ถือหุ้น (Shareholder Letter) โดยทางทีมงานเราก็จะสนุกเพลิดเพลินกับการอ่านสาระจากผู้บริหารระดับโลกเสมอมา แต่สิ่งที่พิเศษมากๆสำหรับปีนี้คือ Amazon (AMZN) ซึ่งตอนที่พวกเราได้อ่านฉบับนี้เรารู้สึกถึงพลัง วิสัยทัศน์ และความอัจฉริยะของบุรุษที่รวยที่สุดในโลกอย่าง Jeffrey P. Bezos ซึ่งครั้งนี้ ไม่เพียงเป็นสิ่งที่เขาได้เขียน แต่เป็นสิ่งสุดท้ายที่เขาจะเขียน เพราะฉบับนี้จะเป็นฉบับสุดท้ายแล้วที่เขาจะเขียนในนามของ CEO Amazon ซึ่งเขาจะก้าวลงจากตำแหน่งในไตรมาศที่ 3 ในปี 2021 ในจดหมายฉบับนี้มีทั้งจดหมายในปี 2020 ซึ่งจะเขียนเป็นปีสุดท้ายและมีจดหมายในปี 1997 ซึ่งเป็นปีแรกที่ Amazon เข้าตลาด ทุกท่านจะได้เห็นภาพของบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ในสองเวลาที่แตกต่างกัน แรกเริ่มทีมงานเราคิดว่าจะนำเสนอในแบบสรุปความว่ามีเนื้อหาที่น่าสนใจอะไรบ้าง แต่ด้วยความรู้สึกว่าจดหมายฉบับนี้เป็นวาทะอันยิ่งใหญ่ครั้งสุดท้ายจากบุรุษผู้ใหญ่ยิ่ง เราจึงเลือกที่จะพยายามแปลให้ใกล้เคียงกับต้นฉบับที่ คุณ Jeffrey P. Bezos เขียนให้ได้มากที่สุด “This is my last annual shareholder letter as the CEO of Amazon” (นี่คือคือจดหมายถึงผู้ถือหุ้นฉบับสุดท้ายของผมในฐานะ CEO ของ Amazon) - Jeffrey P. Bezos
ธีรวัตร พึ่งรัศมี
ญาณินท์ หลิมเพียน
ถึงผู้ถือหุ้นของเราทุกท่าน
ในจดหมายถึงผู้ถือหุ้น Amazon ฉบับปี 1997 ซึ่งเป็นจดหมายฉบับแรกของเรา ผมได้พูดเกี่ยวกับความหวังที่จะสร้าง “ธุรกิจที่มีความยั่งยืน” ธุรกิจที่จะสร้างมิติใหม่แห่งการบริการลูกค้า โดยการปลดล็อกพลังของอินเตอร์เน็ต ผมได้กล่าวไว้ว่า Amazon ได้เติบโตขึ้นจากการมีพนักงานจำนวน 158 คน เพิ่มขึ้นเป็น 614 คน และเรายังมีจำนวนลูกค้ามากกว่าเดิมเป็นจำนวนมหาศาลที่ 1.5 ล้านราย ซึ่ง ณ ตอนนั้น เราเพิ่งจะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ด้วยมูลค่า 1.50 ดอลลาร์ต่อหุ้น และผมก็ได้บันทึกไว้ว่านี่เป็นเพียงวันที่ 1 ของการเริ่มต้นของเราเท่านั้น (เป็นมูลค่าที่ปรับเทียบหลังแตกพาร์ของหุ้นที่ Split-adjusted stock price)
เราเดินทางมาไกลมากนับจากวันนั้น พวกเราทำงานอย่างหนักมากกว่าที่ใครจะจินตนาการได้ เพื่อที่จะให้บริการ และสร้างความสุขให้กับลูกค้า ในปีที่แล้ว เราได้มีการรับพนักงานจำนวน 500,000 คน ซึ่งนั่นทำให้เท่ากับว่าปัจจุบันเรามีการจ้างงานคนจำนวน 1.3 ล้านคน ทั่วทุกมุมโลก และพวกเรายังมีสมาชิก Prime member มากกว่า 200 ล้านคนทั่วโลก ยิ่งไปกว่านั้นธุรกิจขนาดเล็ก และขนาดกลาง ได้เปิดร้านและทำการขายผ่านหน้าร้านออนไลน์ของเรามากกว่า 1.9 ล้านร้านค้า ซึ่งนับเป็น 60% ของยอดขายปลีกของเราทั้งหมด ลูกค้าของเรายังได้เชื่อมต่ออุปกรณ์ Smart Home กว่า 100 ล้านเครื่อง เข้ากับ Alexa อีกด้วย ปี 2020 ที่ผ่านมา Amazon Web Services (AWS) ได้ให้บริการแก่ลูกค้าหลายต่อหลายล้านราย ด้วยรายได้ทั้งปี ประมาณ 50,000 ล้านดอลลาร์ ประเมินมูลค่าด้วยวิธีการคำนวณแบบ Annualize run rate ในปี 1997 พวกเรายังไม่ได้มีการสร้าง Prime, Marketplace, Alexa หรือ AWS ขึ้นมาเลย ณ วันนั้น สิ่งต่างๆที่กล่าวมา มันไม่มีตัวตนแม้กระทั่งว่าจะสามารถเป็นไอเดียเล็กๆที่ผุดขึ้นมาในหัวพวกเราสักคนด้วยซ้ำไป และไม่เคยมีแผนการที่จะทำสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาเลย เราลองเสี่ยง และฝ่าฝัน ไปกับงานแต่ละงาน ทุ่มเทหยาดเหงื่อ แรงกาย ทุ่มเทความสามารถ ความสร้างสรรค์ที่เรามีไปกับงานแต่ละงานจริงๆ
ในระหว่างทาง พวกเราได้สร้างความมั่งคั่งให้กับผู้ถือหุ้นถึง 1.6 ล้านล้านดอลลาร์ ผู้ถือหุ้นเหล่านี้คือใคร? ผมคือหนึ่งในนั้น และหุ้น Amazon ที่ผมมีอยู่ได้ทำให้ผมกลายเป็นคนร่ำรวย แต่ 7 ใน 8 ส่วนของมูลค่าความมั่งคั่งที่เราสร้างทั้งหมด ซึ่งคิดเป็น 1.4 ล้านล้านดอลลาร์ เป็นของคนอื่นไม่ใช่ของผม แล้วมันตกไปอยู่ที่ใคร? กองทุนบำเหน็จ บำนาญ, กองทุนมหาวิทยาลัย , เงินที่ได้จากแผนออมเงินเพื่อการเกษียณอายุของสหรัฐอเมริกา และ รวมทั้งคนอย่าง Marry และ Larry ด้วย ทั้งสองท่านนี้ได้ส่งบันทึกฉบับนี้ให้กับผม ขณะที่ผมกำลังนั่งเขียนจดหมายถึงผู้ถือหุ้นฉบับนี้อยู่โดยไม่ทันตั้งเนื้อตั้งตัว
5 มีนาคม 2021
คุณ Jeff Bezos
ประธานกรรมการบริหาร
Amazon.com, Inc.
410 เทอร์รี่ เอเวนิว นอร์ธ ซีแอตเทิล, 98109
เรียน คุณ Bezos
ขอบคุณนะที่ทำให้ Amazon เป็นบริษัทที่ยิ่งใหญ่! พวกเราคิดว่าคุณน่าจะอยากรู้นะว่าทำไม Amazon ทำให้เกิดเรื่องดีๆให้กับครอบครัวเราอย่างไรบ้าง
ย้อนกลับไปในปี 1997 ปีที่คุณนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ตอนนั้น Ryan ลูกชายของเรา อายุได้ 12 ปี และชอบอ่านหนังสือเอามากๆ สำหรับวันเกิดของ Ryan ในปี 1997 นั้น พวกเราได้ซื้อหุ้นบริษัทขายหนังสือของคุณ ด้วยเงินที่เราพอจะมี ณ ตอนนั้น จำนวน 2 หุ้น ให้เป็นของขวัญแก่ Ryan ภายในราวๆ 1 ปี หุ้นได้ถูกแตกจาก 1 หุ้น เป็น 2 หุ้น ต่อมาถูกแตกอีก จาก 1 หุ้น เป็น 3 หุ้น และก็แตกอีกจาก 1 หุ้น เป็น 2 หุ้นอีกครั้ง ซึ่งนั่นทำให้ Ryan มีหุ้นเพิ่มเป็น 24 หุ้น หุ้น Amazon ที่เรามีอยู่ ณ ตอนนั้น ยังเป็นชื่อของผมและภรรยาอยู่ เนื่องจากว่า Ryan ยังอายุน้อยเกินไป เราตั้งใจที่จะเก็บหุ้นไว้ให้ลูกในศูนย์ฝากหลักทรัพย์ แต่ก็ไม่ได้ทำ แต่เขาก็รู้ว่าหุ้นที่มีนั้นเราตั้งใจเก็บไว้ให้เขา [จากผู้แปล 24 หุ้น Amazon มีมูลค่าประมาณ 2.4 ล้านบาทในสิ้นปี 2020]
หลายปีผ่านไป มีหลายครั้งที่ Ryan อยากที่จะนำหุ้นที่เขามีไปขึ้นเงิน แต่เราก็มักจะบอกเขาว่า ถ้าอยากได้เงิน ให้นำหุ้นมาขายพ่อกับแม่นี่แหละ เดี๋ยวพวกเราจะซื้อเอง และสุดท้ายพ่อกับแม่จะเอาหุ้นคืนให้ลูกไป เพื่อเป็น “ของขวัญ” เรื่องนี้นับว่าเป็นเรื่องขำขันในครอบครัวของเรากันอย่างมาก
เนื่องจากมูลค่าของหุ้นที่เติบโตแบบทวีคูณ ผมและภรรยาตัดสินใจที่จะแบ่งหุ้นระหว่างพวกเรากันเอง และลูกๆของเราทั้งสองคน Ryan และ Katy
ปีนี้ Ryan มีแผนจะซื้อบ้าน และอยากจะขายหุ้นบางส่วนเพื่อเอาเงินมาซื้อบ้าน หลังจากที่พวกเราได้ค้นหาใบหุ้นต้นฉบับดั้งเดิมแล้ว เราก็ต้องนำใบหุ้นที่เป็นแผ่นกระดาษนั้นไปทำให้อยู่ในฟอร์มดิจิตอลเพื่อที่จะขายมันออกไป เราเองก็จึงได้สังเกตว่า ใบหุ้นที่เรามีตั้งแต่ต้นนั้น ถูกตีทะเบียนด้วยเลขลำดับต้นๆเลย เลขทะเบียนของใบหุ้นเราคือ หมายเลข#### พวกเราคิดไม่ออกจริงๆว่านับตั้งแต่วันที่เราได้ซื้อหุ้นไป จะมีกี่หุ้นที่ถูกแตกออก และมีคนซื้อไปอีกมากเท่าไหร่!
สิ่งที่แนบมาด้วยคือสำเนาของใบหุ้นของบริษัท Amazon เลขที่ ##### เมื่อวันที่ #### ปี 1997 ซึ่งก็คือ 24 ปีที่แล้ว หุ้นจำนวน 2 หุ้นที่เราซื้อมานั้น ได้ส่งผลสุดแสนวิเศษให้กับครอบครัวของเรา พวกเราทุกคนในครอบครัวมีความสุขกับการที่ได้เฝ้าดูมูลค่าของ Amazon ปีแล้วปีเล่า และมันเป็นสิ่งที่พวกเราอยากแบ่งปันให้คนอื่นๆได้รับรู้ [จากผู้แปล มูลค่าหุ้นของ AMZN จากวันแรกที่ Marry และ Larry ซื้อจนถึงสิ้นเมษายน 2021 มูลค่าเพิ่มขึ้นประมาณ 2,300 เท่าในเวลา 24 ปี]
ยินดีด้วยนะครับ กับความสำเร็จในฐานะ CEO ของ Amazon เราคงบอกไม่ได้เลยว่า คุณ Bezos และทีมงานต้องทำงานหนักขนาดไหน เพื่อทำให้ Amazon กลายเป็นบริษัทที่ประสบความสำเร็จ และสร้างสรรค์มากที่สุดบนโลกใบนี้ได้ บัดนี้ ขอให้คุณได้มีเวลาพักผ่อน และได้ทำในสิ่งที่อยากทำ อย่างเช่น การสำรวจอวกาศ!
พวกเรารอไม่ไหวแล้ว อยากรู้ว่า Amazon จะทำอะไรอีกบ้าง! ไปให้ถึงดาวอังคาร!
ด้วยความเคารพอย่างสูง
Marry ##### และ Larry #####
ป.ล. วันนั้นพวกเราน่าจะซื้อสัก 10 หุ้น!
มักจะมีคนเดินเข้ามาเล่าเรื่องราวคล้ายๆกันนี้ให้ผมฟังอยู่ตลอดเวลา ผมรู้จักคนที่ใช้เงินที่ได้จากหุ้น Amazon เป็นค่าเล่าเรียน เงินฉุกเฉิน ซื้อบ้าน ท่องเที่ยว ตั้งตัวทำธุรกิจ บริจาคการกุศล และอื่นๆอีกมากมาย ผมมีความภาคภูมิใจกับความร่ำรวยที่เราได้สร้างให้กับผู้ถือหุ้นทั้งหลาย มันเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ และทำใช้ชีวิตของคนดีขึ้น แต่ยังมีสิ่งอื่นที่ผมรับรู้ได้ นี่ยังไม่ใช่ส่วนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมูลค่าที่เราได้สร้างมันขึ้นมา
สร้างให้มากกว่าใช้
ถ้าคุณต้องการประสบความสำเร็จในการทำงาน (อันที่จริงประสบความสำเร็จในชีวิต) คุณต้องสร้างให้มากกว่าที่คุณใช้ เป้าหมายของคุณควรจะเป็นเรื่องของการสร้างคุณค่าให้กับคนรอบๆตัวคุณ ธุรกิจใดก็ตามที่ไม่สร้างคุณค่าให้กับคนอื่นเลย แม้ว่ามองแบบผิวเผินแล้วมันจะดูประสบความสำเร็จก็ตาม ธุรกิจนั้นจะไม่ยั่งยืน แค่รอเพียงวันที่จะเลือนหายไปเท่านั้น
จงจำไว้ว่าราคาหุ้นไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต แต่คือการคาดการณ์กระแสเงินสดในอนาคต และคิดลดกลับเป็นปัจจุบัน ตลาดหุ้นต้องคาดการณ์ล่วงหน้า ผมขออนุญาตหยุดเรื่องนี้ไว้สักครู่ และจะพูดเกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีต มูลค่าที่เราสร้างให้กับผู้ถือหุ้นในปี 2020 คิดเป็นเท่าไหร่? นับว่าเป็นคำถามที่ตอบได้ง่ายทีเดียว เนื่องจากระบบทางบัญชีมีคำตอบไว้ให้อยู่แล้ว กำไรสุทธิของเราในปี 2020 คือ 21,300 ล้านดอลล่าร์ สมมติว่า แทนที่ Amazon จะเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ที่มีผู้ถือหุ้นหลายพันคน Amazon กลับเป็น บริษัทที่มีเจ้าของเพียงคนเดียว หนึ่งเดียวเท่านั้น นั่นหมายความว่ากำไรสุทธินั้นจะเท่ากับจำนวนที่คนคนเดียวได้รับไปทั้งหมดในปี 2020 [จากผู้แปล Bezos กำลังจะประเมินให้ท่านผู้อ่านเห็นว่า Amazon ทำอะไรให้กับโลกแค่ไหนหากตีเป็นมูลค่ารวมออกมา]
แล้วพนักงานของ Amazon ล่ะ เราได้สร้างคุณค่าอะไรให้กับเขาไหม? คำถามนี้เป็นคำถามที่ตอบได้อย่างง่ายดายเช่นกัน เพราะถ้าหากเราลองดูที่ค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าตอบแทนของพนักงาน รายได้ของพนักงานก็คือรายจ่ายของบริษัท ในปี 2020 พนักงานของเรามีรายได้ 80,000 ล้านดอลลาร์ บวกกับอีก 11,000 ล้านดอลลาร์ ในส่วนของสวัสดิการ และภาษีเงินได้ต่างๆ นับรวมแล้วเท่ากับ 91,000 ล้านดอลลาร์
แล้วร้านค้า Third Party ที่มาค้าขายกับเราล่ะ? เรามีทีมงานภายในของเรา (Selling Partner Services) ที่ให้คำตอบเราในเรื่องนี้ได้ พวกเขาประเมินว่า ในปี 2020 ร้านค้า Third Party ได้กำไรจากการขายของบน Amazon ราวๆ 25,000 – 39,000 ล้านดอลลาร์ ผมขอตีมูลค่าไว้อย่างต่ำที่ 25,000 ล้านดอลลาร์
ในส่วนของลูกค้า เราต้องแยกออกเป็นลูกค้าที่ซื้อของอุปโภคบริโภค และลูกค้า AWS
เรามาเริ่มกันที่ลูกค้าที่ซื้อของอุปโภคบริโภคกันก่อน เราให้ราคาที่ถูก มีของให้เลือกหลากหลาย และจัดส่งอย่างรวดเร็ว สมมติว่าเราตัดเรื่องเหล่านั้นออกไปทั้งหมดเพื่อที่จะประเมิน และให้คุณค่ากับสิ่งเดียวเท่านั้น คือ เราช่วยให้ลูกค้าประหยัดเวลา
ลูกค้าจำนวน 28% ทำการสั่งซื้อผ่านเว็บ Amazon สำเร็จในเวลาสามนาที หรือน้อยกว่านั้น และครึ่งหนึ่งของการสั่งซื้อทั้งหมดเสร็จสิ้นภายในระยะเวลาน้อยกว่า 15 นาที เปรียบเทียบกับการซื้อของทั่วไปตามร้านค้าที่มีหน้าร้าน ต้องขับรถออกไปที่ร้าน จอดรถ ค้นหาว่าของอยู่ที่ไหนในร้าน ต่อคิวรอจ่ายเงิน เดินหารถตอนขากลับ และขับรถกลับบ้าน งานวิจัยชี้ให้เห็นว่าการเดินทางไปยังร้านค้าที่มีหน้าร้าน ต้องใช้เวลาถึงหนึ่งชั่วโมง ถ้าคุณสมมติว่าการซื้อของทั่วๆไปผ่านเว็บ Amazon ใช้เวลา 15 นาที และมันทำให้คุณประหยัดเวลาการเดินทางไปยังร้านค้า 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ นั่นเท่ากับว่าในหนึ่งปีประหยัดไปได้มากกว่า 75 ชั่วโมง นี่คือสิ่งสำคัญ พวกเราต่างมีเรื่องต้องทำมากมายในต้นศตวรรษที่ 21 นี้
เพื่อที่จะให้มองเห็นเป็นจำนวนเงินได้ เราลองกำหนดให้มูลค่าของการประหยัดเวลาอยู่ที่ 10 ดอลลาร์ ต่อชั่วโมง ซึ่งถือว่าไม่มากเลย เจ็ดสิบห้าชั่วโมงคูณกับ 10 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง จากนั้นนำไปลบกับต้นทุนของ Prime จะเท่ากับว่าการสร้างมูลค่าที่เกิดขึ้นกับ Prime member แต่ละท่าน คือราวๆ 630 ดอลลาร์ เรามีจำนวนสมาชิก Prime member ที่ 200 ล้านคน ดังนั้นรวมจำนวนการสร้างมูลค่าทั้งหมดในปี 2020 คือ 126,000 ล้านดอลลาร์ [จากผู้แปล การจะได้รับบริการที่สะดวกครบแบบที่กล่าวมา มักต้องสมัคร Prime member ดังนั้นมูลค่าที่ Amazon สร้างให้ลูกค้าเพิ่มเติมก็จะเป็นสิ่งที่สิ่งที่ลูกค้าได้รับจากการไม่ต้องเสียเวลาซึ่งประเมินเป็นมูลค่า ลบกับค่าใช้จ่ายในการซื้อ Prime member]
AWS จะยากสักนิดสำหรับการประเมิน เพราะว่าการใช้งานของลูกค้าแต่ละท่านจะแตกต่างกันมาก ถึงอย่างไรเราก็จะพยายามประเมินมูลค่าออกมาให้ได้ แต่ให้ทราบไว้ก่อนว่า การประเมินนี้มีความคลาดเคลื่อนสูง ต้นทุนทางตรงจากการเปลี่ยนการใช้เซิร์ฟเวอร์แบบ On premise มาเป็น Cloud สามารถประเมินได้หลากหลาย แต่การประเมินอย่างสมเหตุสมผลคือที่ 30% รายได้ทั้งหมดจาก AWS ในปี 2020 อยู่ที่ 45,000 ล้านดอลลาร์ หมายความว่า 30% ที่ประเมินออกมานั้นเท่ากับการสร้างมูลค่าให้ลูกค้าที่ 19,000 ล้านดอลลาร์ (ถ้าลูกค้าใช้เซิร์ฟเวอร์ของตัวเองเขาจะต้องจ่ายเงิน 64,000 ล้านดอลลาร์ แต่การใช้ AWS ทำให้ลูกค้าเหลือเงินที่จะต้องจ่ายเพียง 45,000 ล้านดอลลาร์) ส่วนที่ยากสำหรับการประเมินมูลค่านี้คือ การลดต้นทุนทางตรงที่เกิดขึ้นกับลูกค้าเป็นเพียงแค่สัดส่วนเล็กๆที่ลูกค้าจะได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนมาใช้ Cloud เท่านั้น ประโยชน์ที่ลูกค้าได้รับไปมากกว่านั้นคือ ความรวดเร็วของการพัฒนาซอฟท์แวร์ที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มยอดขายให้กับลูกค้า เราไม่ทราบว่าจะมีวิธีใด ที่จะประเมินมูลค่าที่ลูกค้าได้รับในส่วนนั้นออกมาได้ นอกเสียจากจะบอกว่ามันคงจะยิ่งใหญ่กว่ามูลค่าที่เกิดจากการลดต้นทุนทางตรงอย่างมาก เพื่อให้เข้าใจได้ง่าย (จำไว้ว่า เราพยายามแค่เพียงจะประเมินมูลค่าออกมาอย่างคร่าวๆเท่านั้น) ผมคิดว่ามันเป็นจำนวนเท่ากัน และมูลค่าที่เกิดขึ้นกับลูกค้าที่ใช้ AWS คือ 38,000 ล้านดอลลาร์ ในปี 2020 [จากผู้แปล On premise คือ การใช้ระบบ IT ที่เซิร์ฟเวอร์ตั้งอยู่ที่สถานที่ของผู้ประกอบการ และต้องมีการบำรุงรักษาระบบด้วยตนเอง]
รวมการสร้างมูลค่าของลูกค้าที่ซื้อของและบริการ กับลูกค้า AWS เข้าด้วยกัน จะเท่ากับว่ารวมแล้วการสร้างมูลค่าในปี 2020 เท่ากับ 164,000 ล้านดอลลาร์
สรุปได้ว่า
ผู้ถือหุ้น 21,000 ล้านดอลลาร์
พนักงาน 9,100 ล้านดอลลาร์
ร้านค้า Third Party Seller 25,000 ล้านดอลลาร์
ลูกค้า 164,000 ล้านดอลลาร์
รวม 301,000 ล้าน ดอลลาร์
ถ้ามีรายงานงบกำไรขาดทุนของแต่ละกลุ่มในการมีปฏิสัมพันธ์ต่างๆกับ Amazon แล้วล่ะก็ ตัวเลขด้านบนคงจะเป็น “ตัวเลขบรรทัดสุดท้าย” จากงบกำไรขาดทุนนั้น ตัวเลขเหล่านี้นับว่าเป็นหนึ่งในเหตุผลที่คนทำงานให้กับเรา ร้านค้าเปิดร้านขายของผ่านช่องทางของเรา และเป็นเหตุผลที่ลูกค้าซื้อของจากเรา เราสร้างมูลค่าให้กับพวกเขา และการสร้างมูลค่านี้ไม่ใช่ Zero sum game มันไม่ใช่เป็นแค่การย้ายเงินจากกระเป๋าหนึ่งไปอีกกระเป๋าหนึ่ง พิจารณาภาพรวมของมนุษยชาติแล้ว จะพบว่า การสร้างสรรค์คิดค้นสิ่งใหม่ คือรากฐานของการสร้างคุณค่าที่แท้จริงทั้งหมด และคุณค่าที่ได้ถูกสร้างขึ้นแล้วนั้น เป็นวิธีการวัดมูลค่าที่ดีที่สุด [จากผู้แปล Zero sum game คือสถานการณ์ที่ต้องมีใครคนใดคนหนึ่งได้ และคนใดคนหนึ่งเสียผลประโยชน์ โดยคนที่ได้ผลประโยชน์จะได้ไปทั้งหมด และคนที่เสียผลประโยชน์ จะเสียทุกอย่าง โดยไม่ได้อะไรกลับมาเลย]
เห็นได้ชัดว่า ความสัมพันธ์ของเรากับแต่ละภาคส่วน และคุณค่าที่เราได้สร้างขึ้น ไม่ได้เป็นเพียงแค่ ดอลลาร์ และ เซนต์ จำนวนเงินไม่ได้บ่งบอกถึงคุณค่าที่เกิดขึ้นทั้งหมด อย่างเช่น ความสัมพันธ์ของเรากับผู้ถือหุ้นก็เป็นไปอย่างเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน ผู้ถือหุ้นลงทุน และถือหุ้นไว้ช่วงเวลาหนึ่ง เราจะการแจ้งทิศทางในการทำงานให้กับผู้ถือหุ้น เกี่ยวกับการประชุมประจำปี และขั้นตอนการลงคะแนนเสียงของผู้ถือหุ้น แม้ว่าผู้ถือหุ้นจะไม่ได้สนใจในเรื่องทิศทางการทำงาน และสละสิทธิการลงคะแนนไปก็ตาม
ในส่วนของความสัมพันธ์ของเรากับพนักงานจะแตกต่างออกไปมาก เรามีกระบวนการที่พนักงานต้องปฏิบัติตาม และทำให้ได้ตามมาตรฐาน เราต้องการให้มีการพัฒนา ฝึกฝนตนเอง และผ่านการอบรมด้านต่างๆ พนักงานต้องมาทำงานตรงเวลา เราดูแล ฝึกฝน พนักงานอย่างมาก และพวกเขาก็ล้วนแต่เป็นหัวกะทิทั้งนั้น ทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากเพียงการให้เงินเดือน หรือสวัสดิการที่ดี แต่มันคือการที่เราดูแลใส่ใจพนักงานในทุกรายละเอียดด้วย
ผมดีใจกับผลการลงมติจัดตั้งสหภาพแรงงานที่คลังสินค้าใน Bessemer หรือไม่? ไม่เลยครับ ผมคิดว่าเราจำเป็นต้องดูแลพนักงานของเราให้ดีกว่านี้ แม้ว่าผลการลงคะแนนจะออกมาตามที่เห็น ว่าความสัมพันธ์ของเรากับพนักงานยังอยู่ในระดับที่ดีมาก แต่มันเห็นได้ชัดสำหรับผมว่า เราจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมี วิสัยทัศน์ที่ดีกว่านี้ ในการที่จะสร้างคุณค่าให้กับพนักงานของเรา นั่นคือ วิสัยทัศน์ และมุมมองเพื่อความสำเร็จของพวกเขา [จากผู้แปล การลงมติจัดตั้งสภาพแรงงานของพนักงาน Amazon เกิดขึ้นเพราะ มีพนักงาน Amazon บางส่วนไม่พอใจในการดูแลพนักงานของบริษัท จึงเรียกร้องให้มีการจัดตั้งสหภาพแรงงานขึ้น แต่สุดท้ายไม่สามารถจัดตั้งสภาพแรงงานได้ เพราะผลการลงคะแนนส่วนใหญ่บอกว่า พอใจในการดูแล และสวัสดิการที่ได้รับจากบริษัท และไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องจัดตั้งสหภาพแรงงานขึ้นมาดูแลผลประโยชน์ในส่วนนี้]
ถ้าคุณได้ติดตามข่าวบ้าง คุณอาจจะคิดว่าพวกเราไม่ได้สนใจที่จะดูแลพนักงานเลย ในรายงานข่าวเหล่านั้นพนักงานของเราถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกทำงานไปวันๆ และถูกใช้งานราวกับเป็นหุ่นยนต์ตัวหนึ่ง นั่นไม่เป็นความจริงเลย พวกเขาเป็นมนุษย์ มีความรู้สึก มีความนึกคิด มีจิตใจ พวกเขาเลือกได้ว่าจะทำงานที่ไหน พวกเราได้ทำแบบสำรวจพนักงาน Amazon จากแผนก Fulfillment Center 94% ของพนักงานทั้งหมดบอกว่าพวกเขาจะแนะนำให้กับเพื่อนว่า Amazon คือที่ที่น่ามาทำงานด้วย
พนักงานของเราสามารถมีเวลาพักได้ตามสะดวกตลอดระยะเวลาการทำงานในแต่ละวัน เพื่อยืดเส้นยืดสาย ดื่มน้ำ ทำธุระในห้องน้ำ หรือพูดคุยกับหัวหน้างาน โดยที่ไม่มีผลกระทบกับประสิทธิภาพในการทำงานของพวกเขา การพักเบรกตามโอกาสเหล่านี้ คือเวลาที่เพิ่มมาจากเวลาพักทานข้าว 30 นาที และ เวลาพักผ่อนหย่อนใจก่อนการทำงานอีก 30 นาที
เราไม่ได้ตั้งเป้าหมายที่ไม่สมเหตุสมผลในการประเมินประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน เราตั้งเป้าที่สามารถทำได้จริง เรากำหนดเป้าหมายในการทำงานที่พนักงานสามารถทำได้ โดยพิจารณาจากตำแหน่งหน้าที่ และผลการวัดประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงาน ประสิทธิภาพในการทำงานถูกประเมินจากการทำงานในระยะยาว เพราะเรารู้ว่า หากกำหนดช่วงระยะเวลาในการประเมินไว้เฉพาะเวลานี้ วันนี้ หรือสัปดาห์นี้ อาจมีสิ่งต่างๆเกิดขึ้นและส่งผลกระทบกับประสิทธิภาพในการทำงานที่เกิดขึ้นในระหว่างนั้นได้ หากพิจารณาแล้วว่าพนักงานมีแนวโน้มที่จะมีประสิทธิภาพต่ำกว่าที่กำหนด หัวหน้างานของพวกเขาจะพูดคุย ให้คำปรึกษา และดูแลฝึกฝน พัฒนา เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย
การพัฒนาและฝึกฝนพนักงาน จะรวมไปถึงพนักงานชำนาญการ และพนักงานที่เพิ่งเริ่มได้รับมอบหมายงานด้วย อันที่จริงแล้ว 82% ของพนักงานที่ได้รับการพัฒนาและฝึกอบรม เป็นพนักงานที่ทำงานได้ตามความคาดหมาย หรือสูงกว่าความคาดหมายที่ตั้งไว้ เรามีการเลิกจ้างพนักงานในอัตราที่น้อยกว่า 2.6% ของพนักงานทั้งหมด เนื่องจากพวกเขาไม่มีความสามารถในการทำงาน (ตัวเลขในปี 2020 ต่ำกว่านั้นเสียอีก เพราะว่าผลกระทบต่อการทำงานจาก COVID-19)
บริษัทที่ดูแลพนักงานได้ดีที่สุดในโลก และที่ทำงานที่ปลอดภัยที่สุดในโลก
ความจริงแล้ว ทีมขนาดใหญ่จำนวนหลายพันคนที่คุมการปฏิบัติการที่ Amazon มีความใส่ใจต่อพนักงานรายชั่วโมงของเราเป็นอย่างมาก พวกเรามีความภาคภูมิใจในบรรยากาศการทำงานที่เราได้สร้างขึ้น และพวกเรายังภูมิใจในข้อเท็จจริงที่ว่า Amazon เป็นบริษัทที่ทำมากกว่าการสร้างงานให้กับคนที่จบด้านวิทยาการคอม และผู้ที่มีปริญญาวิชาชีพเฉพาะทาง แต่พวกเราได้สร้างงานให้กับผู้คนที่ไม่มีแม้แต่ใบปริญญาด้วยซ้ำ
แม้ว่าเราจะประสบความสำเร็จอย่างมากมาย แต่มันก็ทำให้ผมได้เห็นว่า เราจำเป็นที่ต้องต้องมีวิสัยทัศน์ที่ดีกว่านี้เพื่อความสำเร็จส่วนตัวของพนักงานของเราเองด้วย เรามีความต้องการมาโดยตลอดว่า เราต้องการเป็นบริษัทที่ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลางมากที่สุดในโลก และเราจะไม่เปลี่ยนไปจากนั้น เพราะนั่นคือสิ่งที่พาให้เรามาถึงจุดนี้ได้ แต่ผมให้คำมั่นสัญญาว่า เราจะเป็นให้ได้มากกว่านั้น เรากำลังจะมุ่งเข้าสู่การเป็นบริษัทที่ดูแลพนักงานได้ดีที่สุดในโลก และเป็นที่ทำงานที่ปลอดภัยที่สุดในโลกด้วย
สำหรับบทบาทที่ผมกำลังจะได้รับในฐานะ ประธานกรรมการบริหาร (Executive Chair) ผมจะโฟกัสไปที่การเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ ผมคือนักประดิษฐ์ มันคืองานที่ผมทำแล้วมีความสุขที่สุด และเป็นงานที่ผมทำได้ดีที่สุด และมันคือสิ่งที่ผมจะสามารถสร้างคุณค่าได้มากที่สุด ผมมีความตื่นเต้นอย่างมากที่จะร่วมงานกับทีมงานขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยคนที่มีไฟ และความฝัน จากแผนก Ops ทีมงาน และช่วยกันสร้างให้สถานที่นี้เป็นบริษัทที่ดูแลพนักงานที่ดีที่สุดในโลก และที่ทำงานที่ปลอดภัยที่สุดในโลกนี้ขึ้นให้ได้ หากจะลงในรายละเอียดคือ พวกเราที่ Amazon ทุกคน มีความสามารถในการปรับเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็ว แต่ต้องตั้งอยู่บนแนวทางที่เรายึดถือปฏิบัติอย่างเข้มงวด ถ้าตั้งใจทำสิ่งใดก็ตาม พวกเราไม่เคยล้มเหลว และพวกเราก็จะไม่ล้มเหลวในการสร้าง Amazon ให้กลายเป็นบริษัทที่ดีและปลอดภัยที่สุดในโลกสำหรับพนักงานเช่นกัน
เมื่อพิจารณาปัญหาเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานอย่างละเอียดแล้ว ยกตัวอย่างเช่น ประมาณ 40% ของการบาดเจ็บที่เกี่ยวเนื่องกับการทำงานที่ Amazon มักจะเกี่ยวข้องกับโรคที่เกี่ยวกับกระดูกและกล้ามเนื้อ (MSD) เช่น อาการพลิกแพลง เคล็ดขัดยอก จากการเคลื่อนไหวแบบเดิมซ้ำๆ โรค MSD พบได้ทั่วไปใน การทำงานของเรา และมักจะพบได้มากในช่วงหกเดือนแรกที่พนักงานทำงานกับเรา เราจึงต้องคิดวิธีการลดจำนวนการเกิด MSD ในพนักงานใหม่ของเรา ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่เพิ่งอาจจะยังไม่เคยปฏิบัติงานโดยใช้ร่างกายร่วมกับการทำงานมาก่อน
มีโปรแกรมหนึ่งที่เราคิดค้นขึ้นมา และกำลังไปได้ด้วยดี ซึ่งเราได้เริ่มทำกับพนักงานจำนวน 859,000 คน จากไซต์งาน 350 แห่งทั่วอเมริกาเหนือ และยุโรป ในปี 2020 เราแบ่งพนักงานออกเป็นกลุ่มเล็กๆ ให้ศึกษาอบรมเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของร่างกาย และการดูแลสุขภาพแบบ Proactive wellness และความปลอดภัยในการทำงาน นอกจากที่จะลดอาการบาดเจ็บจากการทำงานแล้วนั้น โปรแกรมนี้ยังได้ส่งผลไปถึงการปฏิบัติตนของพนักงานในการใช้ชีวิตประจำวันทั่วไปนอกที่ทำงานอีกด้วย
ตอนนี้เรากำลังพัฒนาระบบอัตโนมัติในการจัดตารางการทำงานของพนักงานโดยใช้อัลกอริทึมขั้นสูงในการประมวลผล เพื่อสลับสับเปลี่ยนการทำงานให้มีการใช้กล้ามเนื้อในกลุ่มต่างๆกัน เพื่อลดอัตราการทำงานซ้ำในกลุ่มกล้ามเนื้อเดิม และช่วยป้องกันความเสี่ยงในการเกิดโรค MSD อีกด้วย เทคโนโลยีใหม่นี้จะเป็นหัวใจในระบบการจัดตารางงานของเราตลอดปี 2021 นี้
ความสนใจที่จะป้องกันการเกิด MSD แต่เนิ่นๆนั้น ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีขึ้น ตั้งแต่ปี 2019 ถึง ปี 2020 โดยภาพรวม อัตราการเกิดโรค MSD ในพนักงานลดลงถึง 32% และ อัตราการลาหยุดงานเนื่องจากการเจ็บป่วยด้วย MSD ลดลงกว่าครึ่ง
ที่ Amazon เราได้มีการจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยจำนวน 6,200 คน ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ใช้วิทยาการด้านความปลอดภัยเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น และได้สร้างมาตราฐานการปฏิบัติงานขึ้นมาใหม่ ในปี 2021 เราจะลงทุนเพิ่มขึ้นในโครงการสนับสนุนความปลอดภัยในที่ทำงาน ซึ่งเป็นเงินมากกว่า 300 ล้านดอลลาร์ นั่นรวมถึงต้นทุนเริ่มต้นในการสร้างเทคโนโลยีที่จะช่วยป้องกันอุบัติเหตุจากรถฟอร์กลิฟท์ และพาหนะอื่นๆอีก จำนวน 66 ล้านดอลลาร์
เมื่อเรานำ ผู้อื่นจะตาม เมื่อสองปีครึ่งที่ผ่านมา เราได้ปรับค่าแรงขั้นต่ำของพนักงานรายชั่วโมงเพิ่มเป็นที่ 15 ดอลลาร์ เราทำเช่นนั้นเพราะว่าเราต้องการเป็นผู้นำในด้านค่าแรง ไม่ใช่แค่ทำตามข้อกำหนดขั้นต่ำทั่วๆไปเท่านั้น เพราะนั่นคือสิ่งที่เราเชื่อว่าถูกต้อง เมื่อไม่นานมานี้ งานวิจัยโดยนักเศรษฐศาสตร์ที่ University of California-Berkeley และ Brandeis University ได้วิเคราะห์เกี่ยวกับผลกระทบจากการตัดสินใจเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็นที่ 15 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง ผลการประเมินจากงานวิจัย สอดคล้องกับสิ่งที่เราได้ยินจากพนักงาน คนในครอบครัวของพนักงาน และชุมชนที่พวกเขาอาศัยอยู่
การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำของเราส่งเสริมเศรษฐกิจระดับชุมชนทั่วประเทศ เพราะไม่เพียงแต่ส่งผลดีกับพนักงานของเรา แต่ยังส่งผลดีกับแรงงานคนอื่นๆที่อยู่ในชุมชนเดียวกันด้วย งานวิจัยเผยให้เห็นว่า การขึ้นค่าแรงของเราส่งผลให้ ค่าแรงขั้นต่ำของแรงงานในอุตสาหกรรมเดียวกันเพิ่มสูงขึ้นด้วยที่ 4.7%
และเรายังไม่หยุดที่จะเป็นผู้นำต่อไป ถ้าเราต้องการที่จะเป็นบริษัทที่พนักงานอยากทำงานด้วยมากที่สุดในโลก เราไม่ควรหยุดที่การที่เรามีสถิติ จำนวนพนักงาน 94% ที่ยินดีที่จะแนะนำให้เพื่อนมาทำงานที่ Amazon เท่านั้น เรามุ่งหวังไว้ที่ 100% และเราจะทำมันให้เกิดขึ้นได้ด้วยการเป็นผู้นำในด้านการดูแลค่าแรง สวัสดิการ โอกาสในการพัฒนาทักษะ ความสามารถ และในด้านอื่นๆ ที่เราจะค้นพบในอนาคต
ถ้าหากผู้ถือหุ้นท่านใดกังวลว่า การที่เราตั้งใจเป็นบริษัทที่พนักงานอยากทำงานด้วยมากที่สุดในโลก และบริษัทที่ปลอดภัยสำหรับการทำงานมากที่สุดในโลกนั้น จะทำให้ความตั้งใจของเราในการที่จะเป็นบริษัทที่ยึดถือความต้องการของลูกค้าเป็นที่ตั้งมากที่สุดในโลกนั้นลดน้อยลง ผมขอให้ท่านสบายใจได้เลย ลองคิดตามดังนี้นะครับ ถ้าเราสามารถบริหารจัดการธุรกิจสองแบบที่แตกต่างกัน เช่นการซื้อขายผ่าน E-commerce และ AWS และทำทั้งสองเรื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพในระดับสูงที่สุดแล้ว เราก็สามารถที่จะทำให้วิสัยทัศน์ทั้งสองที่ได้กล่าวไว้ประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน อันที่จริงแล้ว ผมมั่นใจว่าทั้งสองเรื่องนี้จะส่งเสริมซึ่งกันและกันให้ดียิ่งขึ้นไป
คำปฏิญญา Climate Pledge
ในช่วงต้นของร่างจดหมายฉบับนี้ ผมเริ่มเขียนส่วนนี้ด้วยการยกเหตุผล และตัวอย่างที่สามารถอธิบายให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่มนุษย์มีส่วนเกี่ยวข้องนั้นเป็นเรื่องจริง แต่ขอเรียนตามตรง ผมคิดว่าผมไม่จำเป็นต้องพูดเรื่องนี้อีกต่อไปแล้ว เพราะว่าคงไม่มีใครจำเป็นต้องออกมาพูดว่าการสังเคราะห์แสงมีอยู่จริง หรือพยายามยกตัวอย่างว่าแรงโน้มถ่วงมีอยู่จริง หรือน้ำเดือดที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียสที่ระดับน้ำทะเลนั้นเป็นเรื่องจริง เพราะเรื่องเหล่านี้คือเรื่องจริง ดังเช่นกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นจริง [จากผู้แปล การแสดงออกในจุดยืนทางสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่สำคัญ และทำกันเป็นประจำในบริษัทที่สหรัฐอเมริกา และ Amazon ก็เป็นหนึ่งในบริษัทที่สนใจเรื่องนี้เป็นอย่างมาก และเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Climate Pledge ขึ้นในปี 2019 เพื่อร่วมสร้างธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม]
เมื่อไม่นานมานี้ หลายคนเชื่อว่าคงจะเป็นการดีถ้าได้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ แต่พวกเขาก็คิดว่าอาจจะได้รับผลกระทบตามมา ผลกระทบต่อหน้าที่การงาน ความสามารถในการแข่งขัน และการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ ณ วันนี้ พวกเรามีความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศมากขึ้นแล้ว การเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศไม่เพียงแต่จะหยุดยั้งผลเสียที่จะเกิดขึ้น แต่ยังช่วยให้เศรษฐกิจของเราดีขึ้น ช่วยผลักดันการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี และลดความเสี่ยงต่างๆ เมื่อรวมกันแล้ว สิ่งเหล่านี้จะชักนำให้เกิดอาชีพที่มีคุณภาพมากขึ้น ลูกหลานของเราจะมีความสุข และสุขภาพดีขึ้น คนทำงานก็จะทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และอนาคตที่รุ่งเรืองยิ่งขึ้นไป การผลักดันเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศนั้นไม่ง่าย และมันจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้ง่ายๆ ต้องใช้เวลาอีกทศวรรษจึงจะเห็นผลลัพธ์ เศรษฐกิจในปี 2030 จะต้องแตกต่างจากวันนี้อย่างมหาศาล และ Amazon เอง ก็เตรียมพร้อมที่จะเป็นหัวใจของการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ เราเริ่มโครงการ Climate Pledge ร่วมกับองค์กร Global Optimism เมื่อเดือนกันยายน ปี 2019 เพราะเราต้องการช่วยผลักดันการเปลี่ยนแปลงนี้ให้เกิดขึ้น เราต้องการที่จะเป็นส่วนหนึ่งของทีมที่เข้าใจในสิ่งสำคัญและโอกาสที่จะมีขึ้นในศตวรรษที่ 21 นี้
ปัจจุบัน อีกไม่ถึงสองปีข้างหน้า บริษัท 53 แห่งที่นับได้ว่าเป็นตัวแทนของเกือบทุกภาคส่วนในเศรษฐกิจจะร่วมกันลงนามในปฏิญญา Climate Pledge นี้ด้วยกัน ผู้ที่ลงนามได้แก่ Best Buy, IBM, Infosys, Mercedes-Benz, Microsoft, Siemens และ Verizon เป็นต้น สำหรับบริษัท Verizon ได้ตั้งใจว่าจะเป็นบริษัท Net-zero Carbon ในทุกๆสาขาของตัวเองทั่วโลกให้ได้ภายในปี 2040 ล้ำหน้าไปกว่าสนธิสัญญาปารีสถึง 10 ปี ผู้ที่เข้าร่วมโครงการ Climate Pledge นี้จะต้องวัดและรายงานผลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นการปรับใช้กลยุทธด้านการลดคาร์บอนไดออกไซด์ ผ่านการปรับตัวในการทำธุรกิจอย่างจริงจัง และนวัตกรรมใหม่ๆ และต้องทุ่มเทกับการจำกัดก๊าซเรือนกระจกที่หลงเหลืออยู่ให้เป็นศูนย์ก่อนที่จะปล่อยออกไป ต้องหาวิธีแก้ไขที่แท้จริง ถาวร สามารถวัดผลได้ และต้องชดเชยคืนกลับให้กับคนในชุมชน คาร์บอนเครดิตเป็นสิ่งที่มีค่ามาก เราต้องสำรองไว้เพื่อชดเชยให้กับพื้นที่ที่ไม่สามารถทำตามแนวคิด Low-carbon ได้ [จากผู้แปล ตามข้อตกลงในพิธีสารโตเกียว ประเทศพัฒนาแล้วต้องลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้โลกร้อน หากลดจำนวนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ค่าหนึ่ง จะสามารถตีกลับมาเป็นมูลค่าที่เรียกว่า “คาร์บอนเครดิต” ถ้าหากไม่สามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้ตามกำหนดจะมีค่าปรับ และในขณะเดียวกันหากผู้ผลิตใด โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อย ก็สามารถที่จะนำคาร์บอนเครดิตที่ตนเองมี ไปทำการซื้อขายกับผู้ผลิตที่ต้องการคาร์บอนเครดิตได้]
ผู้ร่วมลงนามปฏิญญา Climate Pledge เหล่านี้ กำลังทำสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง จับต้องได้ และยึดมั่นในคำสัญญาที่ยิ่งใหญ่ Uber ตั้งเป้าที่จะเป็นองค์กรที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในแคนาดา ยุโรป และสหรัฐ ภายในปี 2030 และบริษัทใหญ่สัญชาติเยอรมันอย่าง Henkel ต้องการที่จะเปลี่ยนการใช้ไฟฟ้าของตัวเองมาเป็นการใช้ไฟฟ้าจากแหล่งผลิตที่ใช้พลังงานหมุนเวียนทั้งหมด 100% สำหรับ Amazon เอง เราตั้งเป้าที่จะใช้พลังงานหมุนเวียนทั้งหมด 100% ให้ได้ภายในปี 2025 ซึ่งเร็วกว่าแผนที่เราเคยวางไว้สำหรับต้นปี 2030 เสียอีก Amazon ตอนนี้เป็นองค์กรที่ใช้พลังงานจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนมากที่สุดในโลก เรามีโครงการพลังงานลม และแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่จำนวน 62 โครงการ และหลังคาที่ทำจากโซลาเซลล์ ทั้งหมด 125 แห่ง บนอาคารฝ่าย Fulfillment และแผนกศูนย์คัดแยกทั่วโลก โครงการเหล่านี้มีกำลังการผลิตมากกว่า 6.9 กิกกะวัตต์ และ จ่ายพลังงานได้มากกว่า 20 ล้าน เมกะวัตต์-ชั่วโมง ต่อปี
การขนส่งคือส่วนสำคัญของ Amazon และเป็นส่วนที่ยากที่สุดที่จะทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ได้ภายในปี 2040 การที่จะช่วยเร่งให้ตลาดหันมาใช้รถพลังงานไฟฟ้า และส่งเสริมให้บริษัทห้างร้านต่างๆ เปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เราจึงต้องลงทุนเพิ่มมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ กับบริษัทยานพาหนะพลังงานไฟฟ้าอย่าง Rivian และได้สั่งซื้อรถตู้พลังงานไฟฟ้าสำหรับใช้ในการขนส่งอีก จำนวน 100,000 คัน และมีการจับมือกับบริษัท Mahindra ในอินเดีย และ Mercedes-Benz ในยุโรปอีกด้วย ยานพาหนะสำหรับขนส่งที่ผลิตโดย Rivian ตอนนี้พร้อมแล้วสำหรับใช้ปฏิบัติงาน และได้มีการนำไปใช้ขับขี่บนถนนใน Los Angeles แล้วในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และจะมีอีก 10,000 คัน ที่จะนำไปใช้งานจริงบนถนนอย่างรวดเร็วในปีหน้า ในอนาคตจะมีรถเหล่านี้จำนวน 100,000 คัน ถูกใช้จริงภายในปี 2030 นั่นจะทำให้เราสามารถลดการปล่อยคาร์บอนลงได้หลายล้านตัน สาเหตุสำคัญที่เราต้องการให้ Amazon เข้าร่วมปฏิญญา Climate Pledge คือเพื่อต้องการส่งสัญญานให้ Marketplace และธุรกิจต่างๆ ตื่นตัวในการคิดค้น และพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ Amazon และองค์กรอื่นๆที่ร่วมลงนามในปฏิญญานี้สามารถซื้อไปใช้ได้ การซื้อรถไฟฟ้าจำนวน 100,000 คันจาก Rivian นับเป็นตัวอย่างที่ดี
เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆที่จะก่อให้เกิดสภาวะเศรษฐกิจแบบ Zero-carbon เราจึงได้สร้าง กองทุน Climate Pledge Fund ขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แผนการลงทุนนี้เริ่มต้นด้วยเงินจำนวน 2,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อลงทุนในบริษัทที่มีวิสัยทัศน์ที่สนับสนุนให้เปลี่ยนแนวทางการทำธุรกิจเป็นแบบ Low-carbon ณ ตอนนี้ Amazon ได้มีการลงทุนในบริษัทอย่าง Carboncure Technologies, Pachama, Redwood Materials, Rivian, Turntide Technologies, ZeroAvia และ Infinium นี่เป็นเพียงบางส่วนของบริษัทที่เราหวังว่าจะร่วมกันสร้างอนาคตที่เป็น Zero-carbon ด้วยกัน ผมเองได้จัดสรรเงินส่วนตัวจำนวน 10,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อเร่งการเปลี่ยนแปลงในเชิงระบบที่เราจำเป็นต้องมีในทศวรรษที่จะมาถึงนี้ เราจะสนับสนุนผู้นำทางด้านต่างๆ เช่น นักวิทยาศาสตร์ นักเคลื่อนไหว NGO องค์กรสิ่งแวดล้อม และบุคคลอื่นๆที่มีส่วนร่วมในการป้องกันการเกิดการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ และปกป้องโลกใบนี้ ช่วงปลายปีที่แล้ว ผมได้มีส่วนช่วยเหลือองค์กรทั้ง 16 องค์กรนี้ เป็นครั้งแรก ในด้านการพัฒนานวัตกรรมต่างๆ และหาหนทางการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม เรื่องเหล่านี้ต้องใช้การสนับสนุน และแรงเคลื่อนไหว จากบริษัทขนาดใหญ่ บริษัทขนาดเล็ก นานาประเทศ องค์กรระดับโลก และคนทุกคน ผมตื่นเต้นที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางในครั้งนี้ และมองในแง่ดีว่ามนุษยชาติจะร่วมมือกันแก้ไขปัญหานี้ไปด้วยกัน
ความแตกต่างคือหนทางแห่งการอยู่รอด แต่โลกมักจะบอกให้เรากลายเป็นคนธรรมดา
นี่คือจดหมายถึงผู้ถือหุ้นฉบับสุดท้ายของผมในฐานะ CEO ของ Amazon และผมมีคำสอนสุดท้ายที่ผมรู้สึกว่าจำเป็นอย่างหาที่สุดมิได้ที่จะต้องกล่าวให้ฟัง ผมหวังว่าพวกเราชาว Amazon จะยึดมั่นสิ่งนี้ไว้ในหัวใจ
นี่คือข้อความส่วนหนึ่งจากหนังสือสุดแสนวิเศษ The Blind Watchmaker ของ Richard Dawkins ข้อความนี้คือข้อเท็จจริงธรรมดาทั่วไปทางชีววิทยา
“การตายเพราะความหิวเป็นอะไรที่เราต้องต่อสู้กับมันอย่างมาก คงเหลือเพียงแต่ร่างกาย และนั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเรานั้นตายลง ร่างกายนั้นจะหวนกลับคืนเข้าสู่สภาวะสมดุลเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติรอบๆตัว ถ้าหากคุณลองวัดค่าต่างๆ เช่น อุณหภูมิ ความเป็นกรดเป็นด่าง ปริมาณความชื้น ความเป็นศักย์ทางไฟฟ้าของร่างกายที่ยังมีชีวิตอยู่นั้น คุณจะพบว่ามันมีความแตกต่างจากสิ่งอื่นรอบๆตัวได้อย่างชัดเจน ร่างกายของเรา ตัวอย่างเช่น มักจะมีอุณหภูมิสูงกว่า สิ่งแวดล้อมรอบๆตัว และในสภาพอากาศหนาว ร่างกายของเราต้องทำงานหนักเพื่อที่จะรักษาอุณหภูมิของร่างกายให้คงอยู่ เมื่อเราตาย การทำงานของร่างกายจะหยุดลง ความแตกต่างระหว่างอุณหภูมิในร่างกายของเรา กับสิ่งแวดล้อมรอบๆตัว จะค่อยๆหายไป และในท้ายที่สุดร่างกายของเราจะมีอุณหภูมิเท่ากันกับสิ่งแวดล้อมรอบๆตัว มิใช่ว่าสิ่งมีชีวิตทุกตัวจะต้องพยายามอย่างที่สุดเพื่อจะหลีกเหลี่ยงการเข้าสู่สภาพวะสมดุลของอุณภูมิของร่างกายกับสิ่งต่างๆรอบตัว แต่สิ่งมีชีวิตทุกตัวล้วนต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อให้อยู่รอดได้ ดังเช่น ในพื้นที่ร้อนและแห้งแล้ง สัตว์ และพืช จำเป็นต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อที่จะรักษาระดับของเหลวที่อยู่ในเซลล์ของพวกมันเอสาไว้ ต้องต่อสู้กับธรรมชาติเพื่อไม่ให้ความชื้นในร่างกายไหลออกสู่บรรยากาศอันแห้งแล้งของโลกภายนอก ถ้าทำพลาด พวกมันก็ตาย ยิ่งโดยทั่วไปแล้ว ถ้าสิ่งมีชีวิตไม่สามารถต่อสู้กับโลกภายนอกได้ ในไม่ช้าพวกมันก็จะหลอมรวมเป็นหนึ่งกับธรรมชาติรอบตัว และถึงจุดที่ตัวของมันเองสิ้นสุดลง นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อสิ่งมีชีวิตตาย”
แม้ว่าข้อความนี้จะไม่ได้มีจุดประสงค์สำหรับใช้ในการอุปมอุปไมย แต่ถึงกระนั้นมันก็ยังเป็นข้อความที่ยอดเยี่ยม และเหมาะสมกับ Amazon อย่างมาก ผมอยากจะบอกว่า มันเกี่ยวข้องกับทุกบริษัท ทุกองค์กร ทุกสถาบัน และก็เกี่ยวข้องกับมนุษย์ทุกคน กี่ครั้งที่โลกพยายามกดให้เรากลายเป็นสิ่งธรรมดาสามัญ? ต้องใช้พลังมากมายเท่าไรจึงจะรักษาความโดดเด่นของตัวเราไว้ได้? ต้องใช้กำลังมหาศาลเพียงใดที่จะรักษาไว้ซึ่งสิ่งที่ทำให้เรามีความพิเศษ?
ผมรู้จักสามี ภรรยา คู่หนึ่ง ที่มีชีวิตการแต่งงานที่มีความสุข พวกเขามีเรื่องหนึ่งที่เก็บไว้หยอกล้อกันส่วนตัว บ่อยครั้งที่ผู้เป็นสามีมักมองภรรยาด้วยความหงุดหงิด และพูดว่า “ทำไมไม่รู้จักเป็นเหมือนคนอื่นเขาบ้าง?” และพวกเขาก็ยิ้มและหัวเราะไปด้วยกัน อันที่จริงแล้วความไม่เหมือนคนอื่นของภรรยาคือสิ่งที่ทำให้เขารักในตัวเธอ แต่ในขณะเดียวกัน มันก็จริงอยู่ว่า ชีวิตคงจะง่ายขึ้น เหนื่อยน้อยลง ถ้าเราทำตัวให้เหมือนคนทั่วไปขึ้นอีกสักนิด
ปรากฎการณ์นี้เกิดขึ้นตลอดเวลา ประชาธิปไตยก็ไม่ใช่เรื่องธรรมดาทั่วไป การปกครองด้วยเผด็จการเป็นบรรทัดฐานทางประวัติศาสตร์ ถ้าเราหยุดสิ่งที่เราต่อสู้ สั่งสมกันมาเพื่อรักษาความแตกต่างนี้ให้คงอยู่ อีกไม่ช้าเราคงถูกกลืนสู่ความสมดุล และถูกปกครองด้วยเผด็จการ
เราทุกคนต่างรู้ว่าความแตกต่าง ความเป็นต้นแบบ คือสิ่งล้ำค่า เราถูกสอนให้เป็นตัวของตัวเอง สิ่งที่ผมต้องการขอจากพวกคุณคือ ให้ยอมรับการเป็นตัวเอง และ ซื่อสัตย์กับตัวเองว่าต้องใช้พลังงานอย่างมากในการที่เราจะแตกต่าง และเป็นตัวของตัวเองได้ โลกใบนี้ต้องการให้คุณเป็นแค่เพียงคนธรรมดาคนหนึ่ง โลกจะกดคุณลงเป็นพันๆครั้งเพื่อให้คุณกลายเป็นคนธรรมดาทั่วไป อย่าปล่อยให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น
การเป็นตัวของตัวเองนั้นมีราคาที่ต้องจ่าย แต่มันก็คุ้ม นิทานหลอกเด็กมักจะบอกว่า ความเหนื่อยล้า ความเจ็บปวดจาก “การเป็นตัวของตัวเอง” จะสิ้นสุดลงทันทีเมื่อคุณปล่อยให้ความแตกต่างของตัวเองเฉิดฉายออกมา สิ่งเหล่านั้นไม่เป็นความจริง การเป็นตัวของตัวเองมันคุ้มค่า แต่อย่าหมายมั่นว่ามันจะได้มาง่ายๆ หรือฟรีๆ คุณต้องพยายามทุ่มเทในการเป็นตัวของตัวเองอย่างต่อเนื่อง อยู่เสมอ
โลกใบนี้จะพยายามทำให้ Amazon กลายเป็นบริษัทธรรมดาๆอยู่ตลอดเวลา เพื่อที่จะกลืนกินเรากลับเข้าสู่สภาวะสมดุลเข้ากับสิ่งต่างๆรอบตัว ดังนั้นเราจึงต้องทุ่มเทแรงกายแรงใจอย่างต่อเนื่อง แต่เราทำมันได้
และเราต้องเป็นมากกว่าแค่บริษัทธรรมดาๆ
***
เช่นเคย ผมแนบจดหมายถึงผู้ถือหุ้น ฉบับปี 1997 มาไว้ด้วย จดหมายฉนับนี้ลงท้ายว่า “พวกเราทุกคนที่ Amazon.com รู้สึกขอบคุณเป็นอย่างยิ่งต่อลูกค้าของเราอย่างมาก สำหรับการทำธุรกิจร่วมกัน และความไว้วางใจที่มอบให้ และรู้สึกซาบซึ้งต่อเพื่อนร่วมงานทุกคนสำหรับการทำงานอย่างขันแข็ง และกราบขอบคุณท่านผู้ถือหุ้นทุกท่านสำหรับการสนับสนุนและกำลังใจ” สิ่งเหล่านั้นไม่เคยเปลี่ยนไปเลยแม้แต่น้อย ผมต้องการขอบคุณ Andy Jassy เป็นพิเศษ สำหรับการตอบรับตำแหน่ง CEO นี่เป็นงานที่ยาก และมาพร้อมกับความรับผิดชอบมากมาย Andy คือคนเก่ง มีความสามารถ และเป็นคนที่มีมาตรฐานในการทำงานสูงถึงสูงที่สุด ผมรับประกันท่านทุกคนได้ว่า Andy จะไม่ยอมให้โลกใบนี้ทำให้เรากลายเป็นบริษัทธรรมดาๆอย่างแน่นอน เขาจะรวบรวมพลังงานทั้งหมดที่มี เพื่อทำให้เรายังคงความพิเศษเอาไว้ได้ งานนี้ไม่ง่าย แต่มันเป็นงานที่จำเป็นต้องทำอย่างที่สุด และผมคิดว่างานนี้จะทำให้เกิดความอิ่มเอมใจ และหลายๆครั้งคุณจะรู้สึกสนุกไปกับมัน ขอบคุณครับ Andy
ถึงพวกคุณทุกคน: จงเป็นคนจิตใจดี เป็นตัวของตัวเอง สร้างให้มากกว่าใช้ และต้อง ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ยอมให้โลกดูดกลืนเราไปกับสิ่งแวดล้อมรอบๆตัว วันนี้ยังเป็นวันที่เราต้องนับ 1 อยู่
ด้วยความเคารพอย่างสูง
Jeffrey P. Bezos
ผู้ก่อตั้ง และประธานกรรมการบริหาร
Amazon.com, Inc.
จดหมายถึงผู้ถือหุ้น ปี 1997
(ตีพิมพ์ใหม่จากรายงานประจำปี 1997)
ถึงผู้ถือหุ้นทุกท่าน:
Amazon.com ได้เดินทางผ่านเป้าหมายมากมายในปี 1997 เมื่อสิ้นสุดปี พวกเราได้ให้บริการลูกค้ามากกว่า 1.5 ล้านคน ทำให้รายรับโตขึ้น 838% มีมูลค่า 147.8 ล้านดอลลาร์ และเราได้ขยายความเป็นผู้นำในตลาดออกไปมากขึ้น แม้ว่าจะมีการแข่งขันที่สูงมากในตลาดจากคู่แข่งเจ้าอื่นๆ
แต่นี่นับเป็นเพียงวันที่ 1 ของจุดเริ่มต้นของการใช้งานอินเตอร์เน็ต และถ้าหากพวกเราบริหารจัดการได้ดี สำหรับ Amazon.com ปัจจุบันการซื้อขายผ่านช่องทางออนไลน์ช่วยประหยัดเงินและเวลาอันล้ำค่าของลูกค้าได้ แต่ในวันพรุ่งนี้ จากการประเมินของผมแล้ว การซื้อขายทางออนไลน์จะเร่งการตระหนักรู้ในการประหยัดเงินและเวลาให้กับผู้คนได้มากขึ้น Amazon.com ใช้อินเตอร์เน็ตในการสร้างคุณประโยชน์ให้กับลูกค้า และสามารถเติบโตได้ในตลาดที่มีการแข่งขันสูง ซึ่งเราหวังว่าการสร้างประโยชน์ให้กับลูกค้านี้จะสามารถสร้างธุรกิจที่ยั่งยืนขึ้นมาได้
เรามีโอกาสที่ดีเนื่องจากเราเป็นผู้เล่นเจ้าใหญ่ในตลาดที่เร่งดำเนินกิจการในช่องทางออนไลน์ และในระดับลูกค้าซึ่งยังใหม่ต่อประสบการณ์การซื้อขายออนไลน์ ก็เปิดกว้างในการที่จะสร้างประสบการณ์ร่วมกันกับเรา ตลาดของเรามีศักยภาพ และขยายใหญ่ขึ้นต่อเนื่องอย่างรวดเร็ว คู่แข่งเจ้าใหญ่ๆทั้งหลาย ขยับเข้ามาเล่นตลาดออนไลน์กันมากขึ้น ด้วยการมอบข้อเสนอชักชวนต่างๆ และทุ่มเทขุมกำลังในการสร้างการรับรู้ เข้าถึง และยอดขายจากลูกค้า จุดประสงค์ของเราคือการยึดครอง และขยายตลาดกลุ่มนี้ออกไป และในขณะเดียวกันเฝ้าดูโอกาสอื่นๆในการทำการขายออนไลน์ด้วยเช่นกัน เราเห็นโอกาสที่ดีมากมายในกลุ่มลูกค้าขนาดใหญ่ที่เราเล็งเป้าหมายไว้ กลยุทธ์นี้ไม่ง่ายที่จะทำ เพราะว่าเราต้องลงทุนเพิ่มอย่างมาก และต้องมีการบริหารจัดการที่เฉียบคมเพื่อต่อสู้กับคู่แข่งทางธุรกิจ
มันเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในระยะยาว
เราเชื่อว่าการวัดความสำเร็จเบื้องต้นของเราคือคุณค่าที่เราได้สร้างให้กับผู้ถือหุ้นของเราในระยะยาว คุณค่านี้คือผลโดยตรงจากความสามรถในการขยายและยึดครองตลาดในฐานะผู้นำอุตสาหกรรมของเรา ยิ่งเราเป็นผู้นำได้มากเท่าไหร่ โมเดลธุรกิจของเราก็จะยิ่งเข้มแข็งมากขึ้นเท่านั้น การเป็นผู้นำในตลาดนำมาซึ่ง รายรับที่เพิ่มขึ้น กำไรที่สูงขึ้น มีเงินทุนหมุนเวียนมากขึ้น และเงินปันผลจากการลงทุนที่มากขึ้นด้วย
การกระทำของเราได้ส่งผลอย่างต่อเนื่องในสิ่งที่เรามุ่งหวัง เราเริ่มวัดผลการทำงานของตัวเองจากปัจจัยที่แสดงถึงความเป็นผู้นำในตลาดของเราได้ดีที่สุด ได้แก่ การเพิ่มขึ้นของลูกค้า และรายรับ อัตราลูกค้าที่กลับมาซื้อซ้ำเป็นประจำ และความแข็งแรงในแบรนด์ของเรา เราทุ่มเทอย่างมาก และจะทุ่มเทต่อไป ในการขยาย และเพิ่มฐานลูกค้า การสร้างแบรนด์ และโครงสร้างพื้นฐานในการที่จะเป็นกิจการที่ยั่งยืน
เนื่องจากการมุ่งเน้นไปที่ผลลัพธ์ระยะยาว เราอาจทำการตัดสินใจลงมือทำสิ่งต่างๆแตกต่างไปจากบริษัทอื่นๆ ดังนั้นเราจึงอยากจะแบ่งปันในส่วนของการบริหารจัดการขั้นพื้นฐาน และหลักในการตัดสินใจ เพื่อให้ท่านผู้ถือหุ้นทั้งหลายมั่นใจว่าเป็นไปตามปรัชญาในการลงทุนของพวกท่าน
เราจะตั้งมั่นที่จะยึดถือลูกค้าเป็นศูนย์กลางอย่างต่อเนื่อง ไม่ลดละ
เราจะตัดสินใจลงทุนเพื่อความก้าวหน้าในการส่งเสริมการเป็นผู้นำของตลาดอย่างต่อเนื่องในระยะยาว มากกว่าที่จะลงทุนเพื่อหากำไรระยะสั้น หรือเพื่อเพียงให้ได้ผลตอบแทนระยะสั้นแบบ Wall Street reaction เท่านั้น
เราจะวัดผลวิธีการทำงานและประสิทธิภาพการลงทุนอย่างเป็นเหตุเป็นผล เพื่อที่จะรู้ชัดว่าสิ่งใดที่ไม่ทำกำไรเป็นที่น่าพึงพอใจ และสิ่งใดที่ดำเนินการได้ดีและควรค่าแก่การลงทุนเพิ่มขึ้น เราจะเรียนรู้จากความสำเร็จและข้อผิดพลาดอย่างต่อเนื่องต่อไป
เราจะตัดสินใจลงทุนในสิ่งที่จะทำให้เรามั่นใจได้ว่าเราจะก้าวไปเป็นผู้นำในตลาดได้อย่างมั่นคง มากกว่าตัดสินใจลงทุนในสิ่งที่เราคิดว่าจะส่งผลดีเพียงเล็กน้อย การตัดสินใจในการลงทุนทำเรื่องต่างๆของเรา บางครั้งอาจส่งผลดี แต่บางครั้งก็ไม่ แต่เราจะได้เรียนรู้บทเรียนอันล้ำค่าจากการตัดสินใจทั้งดี และไม่ดีในทุกๆครั้ง
ถ้าหากต้องเลือกระหว่างการทำให้ตัวเลขทางบัญชีดูสวยงาม กับการมีกระแสเงินสดในปริมาณมาก เราจะเลือกกระแสเงินสด
เราจะแจ้งกระบวนการตัดสินใจให้ทราบ เมื่อต้องตัดสินใจในเรื่องสำคัญ (ถ้าไม่ส่งผลกระทบกับความสามารถในการแข่งขัน) เพื่อที่ท่านทั้งหลายจะสามารถประเมินได้ว่า พวกเรากำลังตัดสินใจทำสิ่งที่จะส่งเสริมความเป็นผู้นำในตลาดในระยะยาวหรือไม่
เราจะทุ่มเทกับการทำงาน ใช้จ่ายอย่างชาญฉลาด และรักษาวัฒนธรรมในการเป็นองค์กรแบบ Lean เอาไว้ พวกเราเข้าใจถึงความสำคัญของการรักษาวัฒนธรรมในการใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง เพื่อไม่ให้เกิดการขาดทุน
เราจะดูแลทั้งด้านการเติบโตของกำไรระยะยาว และเงินทุนไปพร้อมๆกัน ในเวลานี้ เราจะมุ่งเน้นไปที่การเติบโตก่อน เพราะเราเชื่อว่าขนาดของธุรกิจคือศูนย์กลางในการเอื้อให้แผนธุรกิจของเราเติบโตมีศักยภาพขึ้นได้
เราจะมุ่งเน้นไปที่การจ้างงาน และเก็บรักษาพนักงานที่มีความสามารถ และทำงานได้หลากหลายเอาไว้ และให้ค่าตอบแทนเป็นหุ้นมากกว่าที่จะเป็นเงิน เราทราบดีว่าความสำเร็จของเราส่วนใหญ่จะมาจากความสามารถในการดึงดูด และรักษาพนักงานที่มีแรงจูงใจในการทำงานที่ดีไว้ได้ พนักงานแต่ละคน จะคิด และจะปฏิบัติงานราวกับว่าตัวเองคือเจ้าของบริษัท
เราไม่ได้แกร่งกล้ามากพอที่จะกล่าวว่า สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นนั้นจะเป็นปรัญชาในการลงทุนที่ถูกต้องเสียทีเดียว แต่นั่นคือปรัญชาของเรา และเราคงมีความใส่ใจไปในการทำงานน้อยเกินไป หากเราไม่มั่นใจมากพอในแนวทางที่เราเลือก และตั้งใจที่จะทำต่อไป
ด้วยหลักการนี้ เราอยากที่จะทบทวนแนวทางที่เรามุ่งเน้นในการดำเนินการ และการทำงานของเราในปี 1997 รวมไปถึงกรอบการทำงานของเราสำหรับอนาคต
จดจ่ออยู่กับลูกค้าอย่างแน่วแน่
ตั้งแต่แรกเริ่ม เรามุ่งเน้นไปที่การนำเสนอราคาที่น่าสนใจ และความคุ้มค่าให้กับลูกค้า เราตระหนักว่า เว็บไซต์ (www ย่อมาจาก World Wide Web โครงข่ายอินเตอร์เน็ตที่เชื่อมโลกเข้าด้วยกัน) เคยเป็น และยังคงเป็น World Wide Wait (รอช้ามาก จนต้องรอกันทั้งโลก) เพราะฉะนั้น เราจึงนำเสนอในสิ่งที่ลูกค้าไม่สามารถทำเอง หรือหาได้จากที่ไหนทั้งสิ้น และเริ่มนำเสนอลูกค้าด้วยการซื้อหนังสืออนไลน์ เรานำเสนอหนังสือหลากหลายประเภท มีจำนวนให้เลือกมากกว่าเดินเข้าไปซื้อที่ร้านหนังสืออย่างมหาศาล (ร้านออนไลน์ของเรามีขนาดเท่ากับสนามฟุตบอล 6 สนาม) และนำเสนอลูกค้าในรูปแบบร้านหนังสือที่ง่ายต่อการค้นหา ง่ายต่อการเลือกดู เปิดทำการ 365 วันต่อปี 24 ชั่วโมงต่อวัน และเรายังปรับปรุงประสบการณ์ในการซื้อหนังสือของลูกค้าด้วย และในปี 1997 ร้านออนไลน์ของเราได้พัฒนาก้าวกระโดดขึ้นมาก ปัจจุบันเราได้มอบบัตรสมนาคุณให้กับลูกค้า และมีบริการ 1-Click shopping กดซื้อของได้ภายในคลิกเดียว เรายังมีรีวิวจำนวนมาก คอนเทนต์มากมาย มีตัวเลือกในการค้นห้า และมีฟีทเจอร์ในการแนะนำต่างๆ เราได้ทำการลดราคาลงเป็นจำนวนมาก เพื่อที่จะเพิ่มความคุ้มค่าให้กับลูกค้าในการเลือกซื้อ การแนะนำแบบปากต่อปากยังคงเป็นเครื่องมือทรงพลังในการทำให้มีลูกค้ารายใหม่เพิ่มเข้ามาอย่างต่อเนื่อง พวกเราขอขอบคุณในความเชื่อมั่นที่ลูกค้าได้มอบให้กับเรา การซื้อซ้ำและการแนะนำแบบปากต่อปากจากลูกค้า รวมกันแล้วได้สร้างให้ Amazon.com กลายเป็นผู้นำในธุรกิจร้านหนังสือออนไลน์อย่างแท้จริง
จากการประเมินในหลายๆครั้ง Amazon.com ได้เดินทางมาไกลมากในปี 1997
ยอดขายโตขึ้นจาก 15.7 ล้านดอลลาร์ ในปี 1996 เป็น 147.8 ล้านดอลลาร์ – เพิ่มขึ้น 838%
บัญชีลูกค้าสมาชิกเพิ่มขึ้นจาก 180,000 บัญชี เป็น 1,510,000 บัญชี – เพิ่มขึ้น 738%
ร้อยละของจำนวนการสั่งซื้อซ้ำของลูกค้าโตขึ้นจาก 46% ในไตรมาสที่ 4 ของปี 1996 ขยับขึ้นเป็นมากกว่า 58% ในไตรมาสเดียวกันของปี 1997
ในส่วนของการเข้าถึงของลูกค้า ที่ประเมินโดย Media Matrix เว็บไซต์ของเราได้ขยับจากลำดับที่ 90 ขึ้นไปอยู่ในช่วง 20 อันดับแรก [จากผู้แปล Media Matrix คือผู้ให้บริการด้านการวัดผลประสิทธิภาพบนสื่อออนไลน์ขององค์กรต่างๆ ซึ่งต่อมาได้ถูกบริษัท Comscore เข้าซื้อ]
เราได้สร้างความสัมพันธ์ระยะยาวกับพาร์ทเนอร์ที่จะช่วยส่งเสริมธุรกิจของเราได้ นั่นรวมไปถึง America Online, Yahoo!, Excite, Nestcape, GeoCities, Alta Vista, @Home และ Prodigy
โครงสร้างพื้นฐาน
ในช่วงปี 1997 พวกเราทุ่มเททำงานอย่างหนัก เพื่อขยายโครงสร้างธุรกิจของเราให้เอื้อต่อการส่งเสริมจำนวนลูกค้าที่เข้าใช้งาน ยอดขาย และคุณภาพในการบริการอย่างมาก
พนักงานของ Amazon.com เพิ่มขึ้นจาก 158 คน เป็น 614 คน และเราได้เสริมความแข็งแกร่งให้ทีมงานบริหารของเราอย่างมาก
ขนาดของของศูนย์กระจายสินค้า เพิ่มขึ้นจาก 50,000 ตารางฟุต เป็น 285,000 ตารางฟุต รวมไปถึงการขยายศูนย์ที่ Seattle เพิ่มขึ้นอีก 70% เพื่อที่จะเปิดใช้เป็นศูนย์กระจายสินค้าแห่งที่สองของเราที่ Delaware ในเดือนพฤศจิกายน
คลังสินค้าของเราขยายใหญ่ขึ้น และมีหนังสือให้เลือกมากกว่า 200,000 เรื่อง ในช่วงปลายปี และนั่นช่วยให้เราสามารถเพิ่มความหลากหลาย และความพร้อมในการใช้งานให้กับลูกค้าของเราได้
ยอดเงินสด และเงินลงทุนของเราเมื่อจบปี คือ 125 ล้านดอลลาร์ ต้องขอขอบคุณเงินทุนที่ได้จากการนำบริษัทเข้าสู่ตลาดหุ้นครั้งแรกของเราในเดือนพฤษภาคม 1997 และ เงินกู้จำนวน 75 ล้าน ดอลลาร์ ที่ทำให้เราสามารถวางกลยุทธต่างๆได้เพิ่มขึ้น
พนักงานของเรา
ความสำเร็จในปีที่ผ่านมา คือผลผลิตของกลุ่มคนที่มีความสามารถ หลักแหลม และทำงานอย่างทุ่มเท และผมมีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของทีม การตั้งมาตรฐานในการคัดเลือกคนได้เป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในความสำเร็จของ Amazon.com และมันจะเป็นเช่นนี้ต่อไป
มันไม่ง่ายเลยที่จะทำงานที่นี่ (เมื่อผมต้องสัมภาษณ์คนเข้าทำงาน ผมจะบอกพวกเขาว่า “คุณสามารถทำงานตั้งแต่เช้าจรดเย็น ทำงานอย่างทุ่มเท หรือจะทำงานอย่างชาญฉลาดก็ได้ แต่ที่ Amazon.com คุณไม่สามารถเลือกทำอย่างใดอย่างหนึ่งได้”) เพราะว่าเรากำลังสร้างสิ่งที่สำคัญ สิ่งที่จำเป็นต่อลูกค้าของเรา สิ่งที่เราสามารถนำไปเล่าให้ลูกหลานฟังได้ สิ่งนี้ไม่ได้ได้มาอย่างง่ายดาย เราโชคดีอย่างที่สุดที่มีทีมงานที่อุทิศตน เสียสละ และสร้าง Amazon.com ขึ้นมาด้วยหัวใจ
เป้าหมายสำหรับปี 1998
เรากำลังอยู่ในช่วงแรกของการเรียนรู้ที่จะสร้างประโยชน์ใหม่ๆให้ลูกค้าของเราผ่านการซื้อขายทางอินเตอร์เน็ต เป้าหมายของเรายังคงเป็นการขยายและสร้างความเข้มแข็งของฐานลูกค้า และแบรนด์ของเรา เราต้องทุ่มเทในการสร้างระบบ และโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาความสะดวกสบายของลูกค้า จำนวนสินค้าที่สามารถให้ลูกค้าเลือกสรร และคุณภาพของการบริการไปพร้อมๆกับการที่ธุรกิจเราเติบโตขึ้น เราวางแผนที่จะเพิ่มเพลงและดนตรีเข้ามาเป็นตัวเลือกให้กับลูกค้า และในอนาคตเราก็เชื่อว่าจะมีผลิตภัณฑ์อื่นๆที่จะเป็นการลงทุนที่ดีเช่นกัน และเรายังเชื่ออีกว่า มีโอกาสดีๆมากมายที่จะดูแลลูกค้าในต่างประเทศของเราได้ดีขึ้น เช่นการลดเวลาการจัดส่ง และปรับปรุงประสบการณ์ซื้อขายรายบุคคลให้ดียิ่งขึ้น มั่นใจได้ว่า ความท้าทายหลักสำหรับพวกเราจะไม่หยุดเพียงแค่การหาวิธีใหม่ๆในการขยายกิจการ แต่จะเป็นการลำดับความสำคัญในการลงทุนทำสิ่งต่างๆอีกด้วย
พวกเรามีความรู้มากกว่าแค่เพียงการขายของออนไลน์ เมื่อเทียบกับตอนที่ Amazon.com เพิ่งเริ่มก่อตั้งใหม่ๆ แต่ก็ยังมีอีกมากที่พวกเราต้องเรียนรู้ แม้ว่าเราจะมองโลกในแง่ดี แต่เราก็จำเป็นที่จะต้องรักษา และคงไว้ซึ่งความรวดเร็วในการทำงาน ความท้าทายและอุปสรรคนานา ที่เราจะต้องเผชิญเพื่อทำให้วิสัยทัศน์ในการสร้าง Amazon.com ให้เป็นจริงขึ้นมานั้นมีมากมายเหลือเกิน คู่แข่งที่มีความสามารถ ทุนหนา ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อการเติบโตและการบริหารจัดการ ส่งผลเสียต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์และอัตราการโตเติบของลูกค้าในแต่ละพื้นที่ และทำให้เราต้องลงทุนจำนวนมากเพื่อขยายโอกาสในการทำธุรกิจ แต่อย่างไรก็ตาม อย่างที่ได้กล่าวเมื่อนานมาแล้วว่า การขายหนังสือออนไลน์ และการซื้อขายออนไลน์ โดยทั่วไปแล้ว จะเห็นได้ว่าเป็นตลาดขนาดใหญ่ มีโอกาสอย่างมากที่หลายบริษัทที่อยากจะเข้ามาทำตลาดตรงนี้และจะหวังที่จะได้กำไรกลับไปเป็นกอบเป็นกำ พวกเราดีใจกับสิ่งที่เราได้ลงมือทำลงไป และตื่นเต้นอย่างมากกับแผนการที่เราจะทำต่อในอนาคต
ปี 1997 นี้ นับเป็นปีที่วิเศษจริงๆครับ พวกเราทุกคนที่ Amazon.com รู้สึกขอบคุณเป็นอย่างยิ่งต่อลูกค้าของเราอย่างมาก สำหรับการทำธุรกิจร่วมกัน และความไว้วางใจที่มอบให้ และรู้สึกซาบซึ้งต่อเพื่อนร่วมงานทุกคนสำหรับการทำงานอย่างขันแข็ง และกราบขอบคุณท่านผู้ถือหุ้นทุกท่านสำหรับการสนับสนุนและกำลังใจ
Jeffrey P. Bezos
ผู้ก่อตั้ง และ กรรมการผู้จัดการใหญ่
Amazon.com, Inc.
แปลและเรียบเรียงโดย ธีรวัตร พึ่งรัศมี และ ญาณินท์ หลิมเพียน
________________________________________________________________________
ดาวน์โหลดไฟล์ PDF ต้นฉบับภาษาอังกฤษ และฉบับแปลภาษาไทยได้ที่นี่
ติดตาม และอ่านบทความอื่นๆของพวกเรา Frisbee & Co. ได้ที่ LINE Official: @frisbee Twitter: @FrisbeeCo Website: frisbeeandco.com
Kommentare