top of page
  • Writer's pictureFrisbee & Co.

จดหมายประจำปี 2021 จาก Frisbee ถึงทุกท่าน

Updated: Jan 4, 2022



ปี 2021 เป็นปีแรกที่ทีมงานเราได้ก่อตั้ง Frisbee ขึ้น รวมตัวนักลงทุนที่มีประสบการณ์และทีมงานที่มีความสามารถหลายๆด้านเข้าด้วยกันทั้งเขียนบทความและให้ความรู้ต่างๆแบ่งปันประสบการณ์ในหลายๆมุม ในปีนี้ คุณคงอยากทราบว่าผลตอบแทนของพวกคนที่เขียนบทความทั้งหลายได้ผลตอบแทนเป็นอย่างไร เก่งอย่างที่เขียนหรือไม่ ด้วยการลงทุนที่เน้นไปทาง Conservative ของเรา ผลตอบแทนการลงทุนของทีมงานได้ผลตอบแทนทบต้นในปีนี้ ตั้งแต่ 55% - มากกว่า 80% ซึ่งถือเป็นผลตอบแทนที่สูงมากและชนะตลาดอย่างที่ไม่ต้องเอามาคำนวนเปรียบเทียบแต่อย่างใด (เราปิดบัญชีของทีมงานเราตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2020 ถึง วันที่ 30 พฤศจิกายน 2021)

เราต้องขอขอบคุณผู้บริหารของบริษัทที่เราเข้าไปซื้อกิจการทุกท่านที่ทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม สิ่งที่เราสนใจอย่างมากคือ ผลประกอบการณ์ของบริษัทดีขึ้นจริงตามราคาหุ้นหรือไม่ ซึ่งในปีที่ผ่านมา ผลประกอบการณ์ของบริษัทที่เราเข้าลงทุนยอดเยี่ยมอย่างมาก ซึ่งเราสนใจมากกว่าราคาหุ้นที่พุ่งขึ้นเสียอีก เราพอใจสำหรับราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้นพร้อมกับผลการดำเนินงานที่ดีเยี่ยม ซึ่งในปีนี้บริษัทที่เราลงทุนได้เกิดเหตุการณ์นี้ ในทางตรงข้ามเราจะรู้สึกหวั่นใจอย่างมาก หากราคาและผลประกอบการณ์ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และเราจะรู้สึกสนใจอย่างมากหากราคาหุ้นแย่ลงแต่ผลการดำเนินงานดีขึ้นซึ่งเรามักจะมองเป็นโอกาสในการเข้าลงทุนเสมอๆ เราทำการลงทุนด้วยการซื้อหุ้นแบบซื้อกิจการ



เราจะยกตัวอย่างวิธีคิดบางอย่างในการเลือกซื้อกิจการของเรา
  • ถ้าให้เลือกระหว่างกิจการราคาถูกแต่คุณภาพต่ำ กับ กิจการยอดเยี่ยมแต่ราคาไม่ถูกนัก เราเลือกคุณภาพก่อนราคาถ้าราคาไม่แพงจนเกินไป

  • เราเลือกกิจการที่น่าจะดำเนินกิจการได้ดีในระยะยาวมากกว่ากิจการที่อาจจะให้กำไรดีจากราคาหุ้นในระยะสั้น

  • เราสนใจยอดขายและกำไรของบริษัทมากกว่าการวิ่งขึ้นลงของราคา

  • เราสนใจกระแสเงินสดที่กิจการทำได้จริงมากกว่าแค่ตัวเลขทางบัญชี

  • เราเลือกสิ่งที่เข้าใจง่ายมากกว่าการใช้วิธีการคำนวณที่ซับซ้อน

  • เรากลัวและสนใจว่ากิจการที่เราเลือกต้องไม่สูญเสียความสามารถในการแข่งขันระยะยาว มากกว่าที่จะกลัวราคาหุ้นจะตกลงในระยะสั้นเพราะปัจจัยอื่นๆมากระทบชั่วคราว

  • เราสนใจกิจการมากกว่า เศรษฐศาสตร์มหภาค แม้ว่าเราจะตามอ่านข่าวทุกๆวันว่านักวิเคราะห์หรือนักเศรษฐศาสตร์พูดอะไรก็ตาม แต่เราสนใจสิ่งที่กิจการของเราทำมากกว่ามาก

  • เราสนใจเปรียบเทียบคู่แข่งของกิจการเรามากกว่าการเอาตัวเลขผลตอบแทนของตัวเราไปเปรียบเทียบกับตลาด แม้ว่าเราจำเป็นต้องเปรียบเทียบก็ตามที

  • เราสนใจติดตามรายงานที่บริษัทประกาศด้วยตัวเองมากกว่าข่าวลือหรือบทวิเคราะห์ในตลาด



ด้วยแนวทางเหล่านี้ ปี 2021 ที่ผ่านมาเราได้ขายกิจการหลายอย่างออกไปที่ไม่เข้าข่ายเหล่านี้และซื้อกิจการใหม่หลายอย่างที่มีความตรงใจกับเรามากกว่า และบางครั้งก็มีคนมาซื้อกิจการของเรา (Tender Offer) ซึ่งผลตอบแทนที่เกิดขึ้นหลายๆครั้งบังเอิญเป็นไปในทิศทางที่เราคาดหวังพอดีแม้ว่าเราไม่ได้คาดหวังกับผลตอบแทนระยะสั้นก็ตาม ในปีต่อๆไปเราคาดหวังว่าเราจะซื้อขายหุ้นน้อยลง เพราะทุกๆครั้งที่เราซื้อขายมักแสดงว่าเราไม่ได้ชอบในกิจการนั้นมากพอ เรามักจะขายในหุ้นในกรณีที่เรารู้สึกว่าเราคิดผิด หรือพื้นฐานบริษัทเปลี่ยน ซึ่งถ้าเราต้องขายหุ้นบ่อยๆแสดงว่าเราอาจจะมีมุมมองที่ไม่รอบด้านพอก็เป็นได้ เราไม่ได้อยากทำกำไรจากหุ้นด้วยการซื้อถูกขายแพงแม้ว่าปีนี้เราจะทำได้หลายต่อหลายครั้ง แต่เราอยากทำกำไรให้ได้จากการที่เราถือกิจการที่มูลค่าสูงขึ้นเพราะยอดขายกำไรมากขึ้นเรื่อยๆและมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างถาวร ซึ่งทำให้แม้ว่าเราจะไม่ขายเราก็จะได้กำไรอย่างถาวร คุณลองจินตนาการคนที่มีหุ้น AMAZON ตั้งแต่ตอนเข้าตลาดแล้วมูลค่าเพิ่มขึ้นมาราวๆ 2,000 เท่าดูแล้วคุณจะเข้าใจได้เลยว่าการได้กำไรโดยที่ไม่ต้องขายหุ้นมันเกิดขึ้นได้จริงๆ ไม่ว่าผลตอบแทนการลงทุนในปีที่ผ่านมาจะสูงแค่ไหนทีมงานเรายังคงเน้นศึกษากิจการและลงทุนในแนวทางที่ค่อนข้าง Conservative เหมือนเดิม เราไม่สนับสนุนให้ใครใช้ Margin หรือเงินกู้ในการลงทุน เราไม่สนับสนุนให้ใช้การซื้อขายกิจการบ่อยๆเพื่อทำผลตอบแทนได้หวือหวา แต่เราเน้นการทำงานด้วยการเลือกกิจการที่จะเข้าลงทุนอย่างพิถีพิถันอย่างที่กล่าวมาข้างต้น


แนวทางการลงทุนเพิ่มเติมในอนาคต

โดยหลักการลงทุนเรายังลงทุนในการซื้อกิจการเหมือนเป็นเจ้าของกิจการเป็นเหมือนเดิม เราสนใจกิจการที่มีคุณภาพสุดยอดแต่ราคาสมเหตุสมผล มากกว่ากิจการที่ราคาถูกเพียงอย่างเดียว แม้ว่าในปัจจุบันกิจการที่มีคุณภาพดีมากราคามักสูงหน่อยก็ตาม สำหรับเราถ้าตลาดมีแต่กิจการที่มีราคาถูกเพียงอย่างเดียวโดยที่ไม่ได้มีคุณภาพที่ดีนักหรือไม่ใช่กิจการที่เราชอบนัก เราขอเลือกที่จะไม่ทำอะไรดีกว่า แต่สิ่งที่เรากังวลมากขึ้นซึ่งเกิดมากขึ้นในช่วงสองสามปีหลังมีสามเรื่อง เราขอแจกแจงมุมมองและวิธีการจัดการต่อสิ่งเหล่านั้นดังนี้



เงินเฟ้อและดอกเบี้ยขาขึ้น

เราพบว่าในช่วงปี 2021 ต้นทุนราคาสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ชิพคอมพิวเตอร์เข้ามามีบทบาทในชีวิตและมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างมาก ต้นทุนค่าขนส่งโดยเฉพาะค่าส่งระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สองอย่างนี้ราคาเพิ่มจนดูเหมือนว่าไม่มีท่าทีว่าจะหยุด อันที่จริงแล้วราคาของทุกๆอย่างตั้งแต่กระดาษยันสีมีราคาเพิ่มขึ้น คุณไม่ต้องเป็นนักลงทุนหรือนักเศรษฐศาสตร์ก็สามารถบอกได้ไม่ยากว่าของแพงขึ้น ซึ่งทุกอย่างส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้ธนาคารกลางประเทศต่างๆลดการอัดฉีดเงินเข้าระบบ (QE Tapering) และมีแนวโน้มจะขึ้นดอกเบี้ยในปี 2022 ซึ่งในมุมมองเราอาจจะช่วยได้น้อยมากเพราะระบบการผลิตที่มีปัญหาไม่ได้ถูกแก้ไขด้วยแค่การขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่ธนาคารกลางก็ไม่ได้มีเครื่องมือมากมายนักในการจัดการกับมันนอกจากเรื่องดอกเบี้ย


ปกติแล้วภาวะเงินเฟ้อไม่ได้อยู่ในความสนใจเรามากนัก เราไม่ซื้อขายกิจการเพราะว่าเงินมันเฟ้อหรือดอกเบี้ยขึ้น เหมือนทุกท่านที่เป็นเจ้าของกิจการหรือทำงานก็คงไม่ซื้อหรือขายกิจการหรือเปลี่ยนงานเพียงเพราะแค่เงินเฟ้อหรือดอกเบี้ยเพิ่ม แต่การที่ต้นทุนสูงขึ้นจริงๆ อย่างรวดเร็วอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนกระทบกับการทำกิจการแน่นอน เรายังไม่แน่ใจว่าภาวะการณ์เพิ่มของต้นทุนสินค้าจะเกิดขึ้นต่อเนื่องไปอีกยาวแค่ไหน เราคาดว่าน่าจะไม่น้อยไปกว่า 1-2 ปีหรืออาจจะนานกว่านั้น เนื่องจากระบบการผลิตที่เสียหายไปหรือไม่พร้อม ไม่ได้แก้ปัญหาได้ง่ายนัก สิ่งที่เราไม่คิดจะเลือกคือการถือเงินสดไว้จำนวนมากๆ หรือการขายหุ้นออกมาจนหมด เพราะเงินเองก็จะลดมูลค่าอย่างรวดเร็วในภาวะของแพงเช่นกัน ซึ่งเงินเฟ้อนี่ไม่ต่างกับภาษีสำหรับเงินสดที่ต้องจ่ายออกไปทุกๆปี ถ้าคุณมีเงินสดคุณก็ต้องจ่ายภาษีด้วยอัตราเงินเฟ้อ เหมือนอย่างที่นักลงทุนหลายๆคนชอบพูดติดปากในภาวะนี้ว่า “Cash is trash” ในช่วงเวลานี้จะมีกิจการบางอย่างที่ชอบภาวะเงินเฟ้อ เราไม่ได้เลือกกิจการที่ชอบภาวะเงินเฟ้อเหล่านั้น หรือชอบภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นโดยตรง เพราะมักจะเป็นกิจการที่ขายสินค้าที่เราไม่รู้สึกว่าได้เปรียบทางการค้าในระยะยาว แต่เรายังคงเลือกบริษัทที่คุณภาพสูงและต้องสามารถทนภาวะเงินเฟ้อได้ หรือเรียกว่ากิจการที่สามารถข้ามผ่านภาวะนี้ไปได้ (ในอดีตเราสนใจว่าคุณภาพกิจการที่ดีน่าจะเพียงพอแต่ในภาวะแปลกๆนี้เราคิดว่าเราต้องการกิจการที่ทนเงินเฟ้อได้ระดับหนึ่งด้วย)



ปกติแล้วกิจการที่ทนภาวะเงินเฟ้อได้ดี นักลงทุนรู้เป็นการทั่วไปอยู่แล้วว่าคือกิจการที่ สามารถขึ้นราคาสินค้าได้ง่ายผลักภาระต้นทุนที่เพิ่มไปให้ลูกค้าได้โดยที่ไม่กระทบยอดขายหรือกระทบไม่มากนัก อีกปัจจัยที่สำคัญก็คือกิจการนั้นๆมักจะต้องการการลงทุนต่ำ เพราะเมื่อลงทุนเพิ่มในภาวะเงินเฟ้อต้นทุนมักจะเพิ่มขึ้นมาก พวกเรานอกจากสนใจปัจจัยเหล่านี้เรายังสนใจว่ากิจการควรมีคุณสมบัติบางอย่างเพิ่มเติม



1. เราสนใจกิจการที่ขายของแพง


การขายของที่แพงทำให้ต้นทุนหลายอย่างส่งผลกระทบต่อกำไรไม่มากนัก คุณลองนึกภาพว่าคุณขายกระเป๋าแบรนด์เนมใบละแสน ต้นทุนค่าส่งที่เพิ่มขึ้นหรือค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้นคงจะแทบไม่กระทบคุณเลยทีเดียว บางกิจการที่เราถือบางอย่างแม้ไม่ขายของแพงแต่ก็ขายของแพงที่สุดเมื่อเทียบในอุตสาหกรรม เมื่อคุณขายของแพงได้คุณจะมีทางออกแปลกๆมากกว่าคนอื่น กิจการเสื้อผ้าที่ขายได้แพงกว่าในช่วงที่ท่าเรือมีปัญหาไม่สามารถส่งของได้ (Port Congestion) เขาสามารถเลือกที่จะส่งทางเครื่องบินทำให้ลูกค้าได้รับของภายในสองวันแม้ว่าจะอยู่คนละประเทศ สามารถรักษาความพึงพอใจลูกค้าได้ เพราะเขาขายของแพงกว่าคู่แข่งในอุตสาหกรรม ดังนั้นถ้าคุณสังเกตคุณจะเห็นว่าเรามักจะเลือกหรือสนใจกิจการที่ขายของแพงหรือขายของแพงกว่าคู่แข่งในอุตสาหกรรมเป็นหลัก เราไม่ชอบเลยกับกิจการที่เน้นการลดราคาแม้ว่าเรายอมรับว่ากลยุทธ์การลดราคาเป็นอะไรที่หลีกเลี่ยงได้ยากแต่ถ้ากิจการไหนก็ตามที่ เสพติดการลดราคาแล้วเราก็เลือกที่จะไม่สนใจกิจการเหล่านั้น



2. เราสนใจกิจการกำไรสูง


เราสนใจอย่างมากกับอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) และกำไรสุทธิ(Net Profit Margin) กำไรขั้นต้นที่สูงกว่าแสดงให้เห็นว่าเราได้กำไรมากกว่าเมื่อขายของ แสดงถึงศักยภาพของสินค้าว่ายอดเยี่ยมและคนยอมที่จะจ่ายในราคาที่ Premium ส่วนกำไรสุทธิแสดงถึงศักยภาพในการบริหารงานของกิจการว่ายอดเยี่ยมแค่ไหน เราสมมติว่า กิจการแห่งหนึ่งกำไรสุทธิ 10% กับอีกบริษัทหนึ่งกำไรสุทธิ 4% ในภาวะต้นทุนเพิ่ม หากต้นทุนสินค้าเพิ่ม 2% บริษัทที่กำไร 10% จะเหลือ 8% หรือกำไรลดลง 20% แต่กับบริษัทที่กำไร 4% เมื่อจะลดลงเหลือ2% ซึ่งเท่ากับกำไรลดลง 50% ทันทีแถมเสี่ยงต่อภาวะขาดทุนด้วย ซึ่งสิ่งนี้เราสนใจอย่างมากว่ากิจการที่เราจะเป็นเจ้าของ ต้องเป็นกิจการที่กำไรสุทธิสูงเมื่อเทียบกับคู่แข่ง



3. เราสนใจกิจการที่มีหนี้สินน้อยหรือไม่มีหนี้สิน


ไม่เพียงแค่ถ้าดอกเบี้ยขึ้นเราจะยังเอาตัวรอดได้ การที่กิจการยังมีเงินสดมหาศาลแสดงว่าในอดีตสามารถดำเนินกิจการได้ดีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในภาวะผันผวนเหล่านี้กิจการที่มีเงินสดสามารถมีทางเลือกได้มากกว่าไม่ว่าจะซื้อหุ้นคืนถ้าหุ้นตก หรือควบรวมกับกิจการอื่นๆเลยเพราะมีเงินเพียงพอที่จะซื้อกิจการอยู่แล้ว



เราโชคดีที่กิจการที่เราเลือกมักจะมีคุณสมบัติเหล่านี้อยู่แล้ว แต่เราก็ให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้นในภาวะเหล่านี้มากขึ้นไปอีก ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้กิจการที่เราสนใจสามารถข้ามผ่านเวลาที่ผันผวนได้ เราเข้าใจดีกว่าการขึ้นดอกเบี้ยหรือหากมีภาวะเงินเฟ้อมากๆ จะทำให้หุ้นมีราคาลดลง ในระยะสั้นเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากระบบ (Systematic Risk) ได้ แต่เราสนใจมูลค่าในระยะยาวของบริษัทมากกว่ามูลค่าระยะสั้น ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมาจะมีปัจจัยหลายอย่างกระทบกับตลาด Nasdaq (กิจการส่วนใหญ่ที่เราสนใจอยู่ใน Nasdaq) แต่ตลาด Nasdaq ก็ยังทำตอบแทนโดยเฉลี่ยได้อย่างยอดเยี่ยม แม้ว่าจะมีช่วงที่ผันผวนหลายๆช่วงเวลาเช่นเดียวกัน เราไม่คิดว่าการซื้อๆขายๆตามภาวะเหล่านี้เป็นวิธีการที่ดี เราคิดว่าเราเลือกกิจการที่ผ่านภาวะเหล่านี้ได้แล้วถือกิจการนั้นอย่างต่อเนื่องน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า





โควิดและ Omicron

ในช่วงปลาย 2021 โควิดสายพันธุ์ Omicron มีการระบาดเป็นเวฟที่เท่าไหร่แล้วก็จำไม่ได้ ซึ่งสายพันธุ์นี้มีความสามารถในการระบาดสูงมาก และวัคซีนที่เรามีอยู่อาจจะป้องกันไม่ได้ดีนัก ส่วนความรุนแรงเท่าที่ทราบยังไม่มีรายงานความรุนแรงมากนัก แต่ทั้งหมดที่กล่าวมาต้องบอกว่าข้อมูลยังน้อยมากๆ คงเป็นหน้าที่วงการแพทย์ต่อไปว่าจะจัดการอย่างไรดี ในส่วนของเรา เรามีมุมมองว่า มนุษย์เรียนรู้ที่จะอยู่กับโควิดมากขึ้น มีทางเลือกที่จะใช้ชีวิตให้เดินหน้าในภาวะนี้ได้ดียิ่งขึ้น และมียาวัคซีนที่จะช่วยให้ผ่านภาวะเหล่านี้ได้ดีขึ้นเรื่อยๆ ในส่วนของกิจการ เรามีข้อมูลที่ยอดเยี่ยมมากในปี 2020 ซึ่งเป็นปีที่กิจการต่างๆได้รับผลกระทบจากโควิดและการปิดเมืองในแทบๆจะทุกประเทศ หลายๆกิจการข้ามผ่านเวลานั้นได้เป็นอย่างดี ซึ่งเราเลือกที่จะสนใจกิจการที่ผ่านโควิดได้ดี มากกว่ากิจการที่ได้ดีจากโควิด กิจการที่ได้ดีจากโควิด เช่นบริษัทยา บริษัทผลิตวัคซีน โปรแกรมบางอย่างที่ทำให้เราประชุมได้โดยไม่ต้องเจอกัน เราไม่ชอบกิจการ New Normal เหล่านั้นเพราะเราไม่ทราบว่าในอนาคตโควิดจะหายไปจากเราเมื่อไหร่ ซึ่งถ้าโควิดหายไปกิจการที่ได้ดีจากโควิดก็อาจหายไปด้วยเช่นกัน เราเลยสนใจว่ากิจการเราสามารถผ่านโควิดได้ดีหรือไม่มากกว่า


หลายๆกิจการแม้ว่าจะมีการปิดเมืองหรือว่าเกิดโควิดระบาดในปี 2020 ก็ไม่ได้มียอดขายตกลงมากนักหรือว่าสามารถกลับมาได้อย่างรวดเร็ว เราหลีกเลี่ยงกิจการที่ได้รับผลกระทบจากโควิดอย่างรุนแรง เพราะบางทีกิจการเหล่านั้นอาจจะไม่กลับมาอยู่ ณ จุดเดิมอีกเลยหรือว่าใช้เวลานานมากกว่าจะกลับมาอยู่ ณ จุดที่เคยอยู่ได้ ด้วยสิ่งที่กล่าวมา ไม่มีใครทราบว่าเราจะใช้ชีวิตกลับไปแบบเดิมหรือว่ามี New Normal แค่ไหน กิจการที่เราสนใจเลยเป็นกิจการที่สามารถเดินหน้าไม่ว่าในภาวะก่อนระบาด ช่วงระบาดหรือว่าหลังระบาดของโควิดได้เป็นอย่างดี สิ่งหนึ่งเราคิดและระวังอยู่เสมอ ก็คือแม้ว่าแต่ละบริษัทและนักลงทุนจะมีประสบการณ์ในการปรับตัวกับโควิดมากขึ้นก็ตามที แต่รัฐบาลของประเทศต่างๆและประชากรของโลกกลับมีเงินเก็บและความสามารถอดทนต่อภาวะการณ์ต่างๆลดลงมากเช่นกัน ซึ่งเราก็ต้องไม่ประมาทต่อสิ่งเหล่านี้





ประเทศจีนและการลงทุนในหุ้นจีน

ในปี 2021 หุ้นจีนมีการปรับตัวลงจากนโยบายหลายอย่างที่รัฐบาลจีนได้ออกมาตรการหลายอย่างมา เรามีมุมมองว่า จีนและหุ้นจีนเป็นโอกาสในการลงทุนที่นักลงทุนและกองทุนหลายๆแห่งไม่สามารถปฎิเสธได้ ในภาพรวมแล้วเราเองไม่ได้ลงทุนในหุ้นจีนและยังไม่มีความมั่นใจพอที่จะลงทุนในหุ้นจีน เราไม่คิดว่ารัฐบาลจีนทำลายขีดความสามารถหรือทำลายบริษัทจีน ในทางตรงข้ามเราเห็นว่ารัฐบาลจีนกำลังทำให้ประเทศจีนมีความสามารถในการแข่งขันระยะยาวของจีนดีขึ้น รัฐบาลจีนไม่เคยยอมให้บริษัทต่างชาติเข้ามาผูกขาดในประเทศจีน และเช่นเดียวกันรัฐบาลจีนก็จะไม่ยอมให้บริษัทของประเทศจีนผูกขาดกิจการในจีนเช่นเดียวกัน จึงได้ออกมาตรการป้องกันการผูกขาดออกมาต่อเนื่อง ซึ่งอันที่จริงก็ไม่ต่างกับกฎหมายของฝั่งตะวันตก ที่มี Antitrust Law ป้องกันการผูกขาดมานานแล้วเช่นกัน ต่างแค่เพียงจีนเพิ่งเริ่มออกมาตรการทำให้ดูเป็นเรื่องใหม่ และด้วยการที่จีนสามารถเปลี่ยนแปลงมาตรการได้อย่างรวดเร็วกว่าทุกประเทศ ทำให้ภาพที่ออกมาดูรุนแรง แต่มาตรการทั้งหมดที่ออกมาก็เพื่อป้องกันการผูกขาดจากบริษัทขนาดใหญ่เพื่อทำให้บริษัทขนาดเล็กขนาดกลางสามารถแข่งขันได้มากขึ้นและลดการผูกขาดของกิจการขนาดใหญ่


อีกสิ่งหนึ่งที่รัฐบาลจีนไม่สามารถยอมให้เกิดได้ก็คือการผูกขาดทางข้อมูล หรือการเข้าถึงข้อมูลของคนจีนหรือประเทศจีนไม่ว่าจะเป็นบริษัทจีนเองหรือประเทศอื่นใดก็ตามทำให้บริษัทที่ถือครองข้อมูลในจีนต้องได้รับการตรวจสอบอย่างเป็นพิเศษ และเป็นไปได้ว่าบริษัทจีนที่ไป List หรือว่าซื้อขายในตลาดหุ้นอเมริกา อาจต้องออกจากตลาดแล้วมา List ในประเทศจีนหรือฮ่องกงแทนเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบข้อมูลภายในบริษัทที่มีข้อมูลของจีนอยู่จำนวนมากจากประเทศอื่น


จากที่กล่าวมาทำให้เราเชื่อว่าการกระทำของรัฐบาลจีนจะเพิ่มความสามารถของประเทศในระยะยาว และมาตรการเหล่านั้นจะออกมาต่อเนื่องจนกว่า ประเทศจีนจะไม่ถูกผูกขาดโดยกลุ่มทุนใดกลุ่มทุนหนึ่ง และข้อมูลของคนจีนไม่สามารถถูกตรวจสอบหรือเข้าถึงโดยบริษัทหรือองค์กรต่างชาติได้ หากจะมีองค์กรใดผูกขาดในจีนองค์กรนั้นจะต้องเป็นรัฐบาลจีนเท่านั้น


ด้วยเหตุที่กล่าวมาบริษัทต่างๆในจีนจะมีทั้งที่ได้รับประโยชน์และโทษ จากมาตรการเหล่านั้น บริษัทที่น่าจะได้รับผลกระทบรุนแรง คือบริษัทที่เคยมีความสามารถในการผูกขาดหรือมีข้อมูลมากกว่าบริษัทอื่นอาจะสูญเสียความสามารถนั้นๆไปอย่างถาวร ซึ่งจะกระทบต่อมูลค่าบริษัทอย่างมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากต่อการประเมิน ทำให้เราเลือกที่จะอยู่ห่างจากสิ่งที่ยากต่อการคาดเดาเหล่านั้น อย่างไรก็ดีเรายังติดตามและศึกษาบริษัทในจีนและนโยบายต่างๆของรัฐบาลจีนอย่างใกล้ชิด รายละเอียดเกี่ยวกับการจัดระเบียบสังคมของจีน อยู่ในบทความนี้ https://www.frisbeeandco.com/post/หุ้นจีนตกหนัก-วิกฤติหรือโอกาส


ป.ล. ทางทีมงานตั้งใจเขียนจดหมายประจำปี เพียงเพื่อแชร์ประสบการณ์การลงทุนเท่านั้น ไม่ได้มีเจตนาจะชี้นำหรือแนะนำการซื้อหุ้นตัวใดๆ ขอให้ทุกท่านโชคดีในการลงทุนในปี 2022



 

ติดตาม และอ่านบทความอื่นๆของพวกเรา Frisbee & Co. ได้ที่ LINE Official: @frisbee Twitter: @FrisbeeCo Website: frisbeeandco.com


126 views0 comments

Comments


bottom of page