top of page
  • Writer's pictureFrisbee & Co.

Frisbee Letter 2022 จดหมายประจำปี Frisbee 2022(Frisbee Letter 2022)


ปีที่สองของ Frisbee Letter ซึ่งเราจะมาเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับทีมงาน Frisbee แนวคิดต่างๆที่ผ่านมาและในอนาคตที่เราสนใจเพื่อที่ให้ท่านผู้อ่านอาจจะเอาไปใช้ประกอบการตัดสินใจในการลงทุนหรือใช้ประโยชน์ในการลงทุน ผลตอบแทนการลงทุนทีมงานเรา ติดลบประมาณ -17% โดยที่ผลตอบแทนของ Nasdaq -26.19% (Benchmark -24.86%*)(เราใช้ดัชนี Nasdaq ในการเป็นตัวอ้างอิงและวัด Performance ของเรา เนื่องจากบริษัทที่เราสนใจมักจะอยู่ใน Nasdaq และเราเชื่อว่า ในระยะยาวบริษัทใน Nasdaq ซึ่งเป็นบริษัทที่เน้นเรื่อง เทคโนโลยีจะเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของโลก) ซึ่งภาพรวมเราพอใจอย่างมาก เราไม่ได้เพียงพอใจกับการที่เราเอาชนะตลาดได้ แต่เราพอใจมากกว่านั้นจากการที่บริษัทที่เราสนใจและเราถือหุ้น เติบโตในแง่ยอดขายและกำไรได้ดี หลายๆบริษัทดีกว่าที่เราคาดการณ์เสียด้วยซ้ำ ในเวลาที่ตลาดหุ้นตกต่ำ สิ่งที่เราสนใจมีสองเรื่อง เราทำผลงานได้ดีกว่าตลาดหรือไม่ และอีกเรื่องที่สำคัญยิ่งกว่าคือบริษัทที่เราถืออยู่ทำธุรกิจเป็นอย่างในภาวะตลาดซบเซานั้นๆ เราขอเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2022 ที่ผ่านมาและแนวคิดว่าเรามองสิ่งเหล่านั้นอย่างไรบ้าง

ภาพตลาดในอดีตและผลตอบแทนของตลาด


ทำไมเราให้ความสนใจตลาด ง่ายๆก็คือ เพราะตลาดมันมีความสามารถสูงมาก หากคุณสามารถผลตอบแทนได้กว่าตลาดในระยะยาวแล้ว ผลตอบแทนคุณจะมากอย่างไม่น่าเชื่อ เราขอยกตัวอย่างตลาด S&P500 ซึ่งคือดัชนีที่รวมเอาหุ้นใหญ่ที่สุดในอเมริกามาคำนวณ ซึ่งน่าจะอธิบายอดีตได้เป็นอย่างดีเราเคยเล่าคำพูดของ Warren Buffet ไว้ในบทความเรื่อง “คำแนะนำจาก Warren Buffett เมื่อตลาดมีความผันผวนสูง “ความอดทนสวยงามเสมอ” สิ่งที่น่าสนใจมากก็คือ มี 3 ประเด็นที่เราควรต้องพิจารณา

· กว่าร้อยปีที่ผ่านมานี้ มูลค่าของตลาดหุ้นเพิ่มขึ้นเท่าตัวทุกๆ 8 ปี (100 ปีที่ผ่านมาเราผ่านเรื่อง

สงคราม เงินเฟ้อ ไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง ซึ่งตลาดหุ้นก็ยังให้ผลตอบแทนที่ยอดเยี่ยมมากๆ)


· เงิน 1 ดอลล่าร์ที่ได้ลงทุนไว้ใน S&P 500 เมื่อ 50 ปีที่แล้ว ปัจจุบันมีมูลค่ามากกว่า 100 ดอลล่าร์

· ที่ผ่านมา ในทุกๆช่วงเวลา 5 ปี ไม่เคยมีครั้งไหนที่ S&P ไม่ได้ให้ผลตอบแทนที่เป็นบวกเลย


แปลว่าถ้าเราสามารถอดทนกับภาวะตลาดได้นานมากพอ ผลตอบแทนจะสวยงามเสมอ หลักการง่ายๆก็คือถ้าคุณรู้สึกรอ 5 ปีได้ คุณคือนักลงทุนหากคุณไม่สามารถรอระยะเวลา 5 ปีได้ นั่นคงยากที่จะบอกว่าคุณเป็นนักลงทุน Warren ยังได้พูดต่อไปอีกว่า “If you aren’t willing to own a stock for 10 years, don’t even think about owning it for 10 minutes - ถ้าคุณรับไม่ได้ที่จะต้องถือหุ้นไว้สัก 10 ปี ก็อย่าซื้อหุ้นตัวไหนเลยซะดีกว่า” (คุณสามารถอ่านบทความตัวเต็มได้ที่ https://www.frisbeeandco.com/post/คำแนะนำจาก-warren-buffett-เมื่อตลาดมีความผันผวนสูง-ความอดทนสวยงามเสมอ ) หลายท่านถามมาตอนนี้เรื่องน่าสนใจซื้อหุ้นหรือไม่น่าสนใจซื้อ ตอนนี้ดอกเบี้ยขาขึ้น น้ำมันแพง (จริงๆไม่แพงแล้วมันลดลงมาเท่าก่อนสงครามแล้ว) เงินเฟ้อ เศรษฐกิจถดถอย *หุ้นตก* ถามว่าน่าซื้อหุ้นยังไง มันมีอีกสถานการณ์ที่เดี๋ยวเราจะเจอเงินเฟ้อลดลง ดอกเบี้ยลด เศรษฐกิจโต เดี๋ยวมันก็วนลูปกลับมา แล้วเราจะซื้อตอนแพงหรือตอนถูก นี่ตรงไปตรงมามากแต่ขัดความรู้สึกคนปกติมากๆ เราลองมามองในรายละเอียดให้ชัดขึ้น


ดูอดีต SNP 500 ย้อนหลัง 40 ปี (1980-2021)ผ่านวิกฤติทั้งแฮมเบอร์เกอร์ Subprime โควิด สงครามอิรัก ผลตอบแทนของตลาดทำได้ถึง 10.31% ทบต้น ย้ำนะว่านี่คือผลตอบแทนทบต้น ถ้ามองตรงนี้ทุกคนจะอยากซื้อตอนมันสีแดงมากกว่าแน่นอนแล้วถือยาวให้ได้ผ่านช่วงสีเขียว แต่ในสถานการณ์จริงมนุษย์ ตอนอยู่ในสีแดงจะมีแต่ความกลัวกลัวสารพัดทั้งค่าเงินจะหมดค่ากลายเป็นกระดาษ เศรษฐกิจจะถดถอย เงินจะเฟ้อ ดอกเบี้ยจะขึ้น เอาจริงๆสิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยน คือพาดหัวข่าว มันก็จะวนๆพูดแต่เรื่องแบบนี้มาน่าจะเป็นร้อยๆปีแล้วมั๊ง

ลองคิดเล่นๆว่าเราโชคไม่ดีเราซื้อหุ้นสิ้นปี 1999 100 บาท ซึ่งตอนนั้นนักวิเคราะห์ทุกคนจะบอกว่าให้ซื้อเพราะว่าสถานการณ์ดีสุดๆครับ เราจะขายทุนหลังจบปี 2002 ถึง 40% เหลือเงิน 60 บาท ด้วย Hamburger Crisis แต่เราจะมาเท่าทุน 100 บาท หลังปี 2007 แล้วก็มาเจอกับ Subprime ในปี 2008 พอร์ตติดลบจากเงินตั้งต้นไปอีก 40% เหลือ 60 บาทอีกแล้ว แล้วถือยาวมาถึงตอนนี้ เราจะมีเงินหลังจบปี 2021 331 บาท โดยประมาณ หรือเพิ่มขึ้น 3 เท่าใน 22 ปี โดยที่นี่คือช่วงเวลาที่ซื้อได้เลวร้ายที่สุดแล้ว


ในทางตรงข้ามถ้าเรากลั้นใจซื้อหุ้นช่วงเลวร้ายสุดๆคือสิ้นปี 2002 ด้วยเงิน 100 บาท ตอนนั้นหุ้นตกต่อเนื่อง 3 ปีติดเลวร้ายสุดในประวัติศาสตร์ทีเดียวนักวิเคราะห์เชียร์ขายแน่นอน แต่ถ้าเรากล้าซื้อ เราจะมีเงิน 554 บาทโดยประมาณในสิ้นปี 2021 ซึ่งผลตอบแทนกว่า 5 เท่าใน 20 ปี โดยทั้งที่ช่วงนั้นต้องผ่านวิกฤติใหญ่ Subprime ความอดทนมันให้ผลตอบแทน มหาศาล ถ้าเราเข้าใจไม่ผิด ผลตอบแทนที่กล่าวมาทั้งหมดนี่ไม่รวมเงินปันผลด้วยซ้ำ เราเห็นภาพได้ไม่ยากเลยว่าการซื้อหุ้นช่วงแย่มันดีกว่าแค่ไหน แต่อย่างไรก็ดี คนเราไม่เคยมองแบบนั้น


เราเล่าเรื่องตลาดมาในให้ฟังเพื่อที่คุณจะได้ทราบว่าทำไมเราถึงพอใจกับการที่มีผลตอบแทนดีกว่าตลาด อันที่จริงเราสนใจผลตอบแทนที่ดีกว่าในระยะยาวมากกว่าการวัดแค่ปีเดียว แต่สิ่งสำคัญจริงๆที่เราอยากจะชี้ประเด็นคือ ในระยะยาวตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนที่ดีมาก ถ้าสิ่งที่เราพูดนี้ทำให้คุณอยู่ในตลาดหุ้นระยะยาวได้แล้วโดยไม่ซื้อๆขายนั่นล่ะคือสิ่งที่เราคาดหวัง ถ้าหากคุณซื้อหุ้นที่พิสูจน์ตัวเองได้ในระยะยาว กระจายความเสี่ยงอย่างเหมาะสม และถือมันไว้ได้นานมากพอ คุณไม่จำเป็นต้องกังวลกับผลกระทบระยะสั้นที่เกิดขึ้นแม้ว่ามันอาจจะทำให้คุณต้องเสียเวลารอสักหน่อยก็ตาม แต่ด้วยความที่ตลาดมีความผันผวน เราแนะนำว่าการลงทุนที่ดีคือการนำเงินที่คุณสามารถที่จะไม่ใช้มันได้ในระยะอย่างน้อย 5 ปีมาลงทุน สำหรับท่านที่สนใจในเรื่องการกู้ยืมเพื่อมาลงทุนอันนี้เราไม่เห็นด้วยอย่างเด็ดขาด


สงคราม ยูเครน-รัสเซีย ราคาน้ำมันและ Deglobalization


ในช่วงประมาณเดือน กพ. ที่ผ่านมาทางรัสเซียก็ได้เข้าบุกยูเครน ตลาดหุ้นก็ตก ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นเนื่องจากรัสเซียเป็นผู้ผลิตแก๊ซธรรมชาติ คนสำคัญป้อนสู่ยุโรป สงครามผ่านมาหลายเดือนก็ยังไม่มีท่าทีว่ารัสเซียจะยึดเมืองหลวงยูเครนได้ ทำให้มีความสนับสนุนจากฝั่งอเมริกาและยุโรปเข้าไปช่วยยูเครนมากขึ้นเรื่อยๆสงครามยืดเยื้อขึ้น ไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่ายๆ หากถามว่าสงครามมีผลกระทบต่อตลาดหุ้นแค่ไหน เราขอแนะนำให้ท่านลองอ่านเรื่องผลกระทบของตลาดหุ้นกับสงครามซึ่งได้รวบรวมสงครามต่างๆ และความสัมพันธ์ต่อราคาหุ้น https://www.frisbeeandco.com/post/ตลาดหุ้นกับสงคราม-เลวร้ายแค่ไหน สงครามครั้งนี้หากจบง่ายรัสเซียจะกลายเป็นประเทศที่มีอิทธิพลทางทหารมากขึ้นไปอีกและ ยุโรป จะยิ่งต้องพึ่งพารัสเซียมากขึ้น จากที่พึ่งมาเรื่องพลังงานจากรัสเซียเป็นหลักอยู่แล้ว แต่การที่สงครามยืดเยื้อ ทำให้โลกเปลี่ยนไปหลายอย่าง

1. ยุโรปลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย ในหลายปีที่ผ่านมาโลกเข้าสู่ยุค Globalization ประมาณว่าที่ไหนผลิตอะไรได้ถูกประเทศอื่นก็นำเข้ามา ซึ่งทำให้ยุโรปลดการใช้พลังงานจากถ่านหิน ลดการใช้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์หันมาใช้ ก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อลดมลภาวะโดยเฉพาะเยอรมันนี่แทบจะใช้พลังงานทั้งหมดจากรัสเซีย อันที่จริงเรื่องนี้ทางอเมริการได้พูดต่อต้านหลายครั้งเรื่องการใช้พลังงานจากรัสเซียโดยแทบไม่มีทางเลือกอื่นไว้เลย แต่ด้วยการที่ยุโรปได้เลือกข้างยูเครนอย่างชัดเจน ทำให้ยุโรปต้องปรับตัวในการเริ่มหาพลังงานใหม่ๆ ทั้งการกลับมาของโรงไฟฟ้าหรือแนวทางพลังงานที่เคยเลิกใช้ เช่น นิวเคลียร์ หรือการเร่งพัฒนาพลังงานทดแทนควบคู่ ซึ่งในปลายปี 2022 ยุโรปก็ปรับตัวในการเลิกใช้พลังงานจากรัสเซียได้อย่างรวดเร็วอย่างไม่น่าเชื่อ ราคาน้ำมันในช่วงเดือน ธันวาคม 2022 กลับปรับตัวลงต่ำกว่าก่อนเริ่มสงครามเสียอีก(เราไม่ได้บอกว่าอะไรเป็นสาเหตุให้น้ำมันราคาลดลง เพราะมันมีหลายปัจจัยมากแต่ภาพรวมราคาน้ำมันต่ำลงในช่วงปลายปีอย่างต่อเนื่อง)

2. กรณี จีน ไต้หวัน หลายท่านคงทราบดีอยู่แล้วว่า จีนมองว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน แต่ไต้หวันมองว่าตัวเองเป็นประเทศเอกราช ซึ่ง หากรัสเซียเอาชนะยูเครนได้อย่างรวดเร็วโดยที่สังคมโลกไม่สามารถทำอะไรได้ก็เป็นแบบอย่างให้จีนมีโอกาสเข้ายึดไต้หวันมากขึ้นเช่นกัน ประเด็นเรื่องไต้หวันเป็นเรื่องที่ใหญ่และเราสนใจมากกว่ายูเครนมาก เพราะไต้หวันมีบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียคือ TSMC ผู้ผลิต ชิป คอมพิวเตอร์กว่าครึ่งหนึ่งของโลก iPhone ก็ใช้ ชิปจากที่นี่ หากบริษัทนี้มีปัญหาคุณจะมีปัญหาทั้งโลกทันที ซึ่งอเมริกาคงไม่ยอมแน่ๆ การที่อเมริกาต้องไปปะทะกับจีนย่อมเป็นเรื่องใหญ่กว่า รัสเซียกับยูเครน แต่การที่รัสเซียไม่สามารถเข้ายึดยูเครนได้ง่ายเรามองว่าทำให้ จีนไม่กล้าสุ่มเสี่ยงที่จะเข้ายึดไต้หวัน และประเทศตะวันตกกล้าที่จะเปิดสงครามโต้กลับหรือกลัว จีนกับรัสเซียน้อยลงมาก เรามองว่าสงครามยูเครน ทำให้ โลกมีความชัดเจนขึ้น ไต้หวันมีความเสี่ยงน้อยลง ยุโรปและอเมริกา กลับมาจับมือกันแน่นขึ้น ขั้วอำนาจที่แข็งแกร่งเหลือเพียงอเมริกาเพียงประเทศเดียว

3. ทุกประเทศพึ่งพาตนเองมากขึ้น Deglobalization อย่างที่เราพูดไว้ข้างต้นหลายสิบปีหลังทุกคนมองหาต้นทุนการผลิตที่ถูกที่สุดโลกรวมเป็นหนึ่งเดียว (Globalization) แต่ด้วยสิ่งที่เกิดในยูเครน ทำให้ทุกคนมองหาความมั่นคงของประเทศ การผลิตที่มั่นคงขึ้นเป็นหลักไม่มองเพียงการผลิตที่ถูกลงเท่านั้น Supply ของแต่ละอย่างต้องมาจากหลายๆที่ (Inflation ที่สูงหลักๆส่วนหนึ่งก็เพราะพอหาที่ใหม่ผลิตไม่ทันของก็เลยขาดตลาดและราคาวิ่งสูงขึ้น) แทบทุกบริษัทสร้างฐานการผลิตใหม่เพิ่มนอกประเทศจีน กลายเป็นอินเดียและเวียดนามเป็นเป้าหมายหลักของบริษัทต่างๆทั่วโลกในการสร้างโรงงานใหม่ๆ สินค้าสำคัญไม่ว่าจะพลังงานหรืออาหารของแต่ละประเทศมีการนำเข้าจากหลากหลายแหล่งมากขึ้นมากๆ แม้กระทั่งกำลังทหารแต่ละประเทศก็พยายามที่จะสร้างหรือพัฒนาทางทหารของตัวเองมากขึ้นมากไม่เพียงแค่จับกลุ่มแล้วพึ่งพากลุ่มเท่านั้น


เงินเฟ้อและการขึ้นดอกเบี้ย Recession และ Rebalance ราคาสินค้า


ตั้งแต่กลางปี 2021 เงินเฟ้อก็เริ่มสูงขึ้นและมาพีคมากๆสูงกว่า 8% ในช่วงปี 2022 ซึ่ง FED ก็ได้ขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง เอาจริงๆแล้วก็ไม่ได้แตกต่างจาก Frisbee Letter ปีที่แล้วที่เราคาดการณ์ไว้ (ลองอ่านสิ่งที่เราคาดการณ์ไว้เมื่อปีที่แล้วได้ในลิงค์นี้ https://www.frisbeeandco.com/post/frisbeeletter2021๗ ) ทุกๆครั้งที่ขึ้นดอกเบี้ย หรือว่ามีแนวโน้มจะขึ้นดอกเบี้ย หุ้นจะตกลงอย่างรุนแรง นักการเงินทั่วโลกนิยมใช้ ดอกเบี้ยเป็นตัวหารนึงในสูตรการคำนวณมูลค่าหุ้น ซึ่งเมื่อดอกเบี้ยเพิ่มถ้าใช้สูตรนี้มูลค่าหุ้นจะลดลงทันที ซึ่งคนที่เชื่อตามนี้ก็จะขายหุ้นออกมา แม้ว่าเราจะเห็นด้วยว่าดอกเบี้ยกระทบมูลค่าหุ้น ทั้งทำให้การบริโภคลดต่ำลง ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น ลงทุนได้ยากขึ้น แต่เราไม่ได้สนใจเรื่องสูตรการคำนวนมูลค่าหุ้นแบบที่กล่าวมาแม้ว่าเราจะเข้าใจมันดี เรามีความเห็นว่า FED เร่งขึ้นดอกเบี้ยมากเกินไปมันเหมือนให้ยาคนไข้เข้าไป แต่ยังไม่ทันได้รอดูอาการก็เติมยาเม็ดต่อไปให้แล้ว ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นปลายปีก็คือเงินเฟ้อเริ่มลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง เงินเฟ้อ ประจำเดือนเริ่มเติบโตในอัตราที่ FED ต้องการ คือ 2% ต่อปี แต่ทาง FED ก็ยังให้ความเห็นเชิงกังวลว่าน่าจะต้องควบคุมไปอีกสักระยะและอาจจะต้องขึ้นดอกเบี้ยไปสูงกว่าที่คาดการณ์ เอาจริงๆแล้วเราไม่แน่ใจว่าการที่เงินเฟ้อลดลงเป็นเพราะ FED ขึ้นดอกเบี้ยหรือเปล่า เพราะบริษัทต่างๆที่ขายของถ้าเป็นไปได้ในภาวะแบบนี้ไม่มีใครอยากขึ้นราคาสินค้า อย่างบริษัทที่อยู่นอกประเทศ US หลายบริษัทใช้โอกาสที่ค่าเงิน US แข็งค่าลดราคาสินค้าใน US ช่วงปลายปี 2022 ด้วยซ้ำไป (Rebalance) ซึ่งเป็นเรื่องน่าแปลกใจมากเพราะ 2021-2022 กลางปีราคาสินค้าปรับตัวสูงขั้นตลอด แต่ปลายปีโดยเฉพาะบริษัทในยุโรปถือโอกาสในการลดราคาที่ขายใน US เพื่อแย่งชิงตลาดและเพิ่มยอดขายใน US ทุกๆบริษัทพยายามจะปรับตัวเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะเหล่านี้ โดยที่ไม่เกี่ยวกับ FED เลย ไม่มีใครไปปรับราคาสินค้าที่ตัวเองขายตามดอกเบี้ยหรอก ซึ่งเรามองว่า FED ไม่ได้มีความสามารถอย่างที่ตัว FED เองคิด โครงสร้างของธุรกิจต่างๆพยายามสร้างจุดสมดุลใหม่ขึ้นมา พยายามสร้าง Supply ส่วนที่ขาดไปกลับมา (เรามองว่าปัญหาหลักของเงินเฟ้อคราวนี้คือ ภาคการผลิตที่หายไปจากผลกระทบของ Covid ทำให้สินค้าและบริการบางอย่างขาดตลาด) ซึ่งมันไม่เห็นจะเกี่ยวข้องการกับขึ้นดอกเบี้ยตรงไหน ภายในระยะเวลาหนึ่งเมื่อสมดุลของเงินเฟ้อเข้าที่ และต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ดอกเบี้ยก็จะลดลงเอง ทั้งเงินเฟ้อและดอกเบี้ยพอถึงเวลาจะลดมันก็เร็วพอๆกับตอนที่มันขึ้นนั่นล่ะ ส่วนภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) เราไม่ทราบว่าจะเกิดขึ้นหรือเปล่า ขึ้นอยู่กับ FED ว่าจะทำจนมันถดถอยหรือเปล่า แต่ที่แน่ๆ คือในระยะยาว เป้าหมายของรัฐและ ธนาคารกลางทุกประเทศคือการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เรากังวลน้อยกับเรื่องพวกนี้ถ้าคุณกังวลเรื่องพวกนี้มาก ลองกลับไปอ่านข้างต้นที่เราเขียนเรื่อง ตลาดหุ้น 100 ปีก็ได้ เพราะ 100 ปีที่ผ่านมามันผ่าน Recession ไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้งแต่ผลตอบแทนของตลาดหุ้นก็ยังยอดเยี่ยมในระยะยาวอยู่ดี

เราพูดเรื่อง เศรษฐศาสตร์มหภาค มาหลายเรื่อง ทั้ง ดอกเบี้ย เงินเฟ้อ สงคราม Recession แต่เราบอกได้โดยสรุปว่า เราให้ความสำคัญกับมันน้อยมาก ถ้าเราถือหุ้นเหมือนเป็นเจ้าของกิจการ เราจะไม่สนใจว่าใครจะรบกับใคร ดอกเบี้ยหรือว่าน้ำมันจะเปลี่ยนแปลงแค่ไหน เจ้าของกิจการทุกๆคนสนใจแต่กิจการตัวเองเป็นหลักอย่างน้อยๆ 90% เรื่องราวตลาดโลก GDP หรืออะไรก็แล้วแต่เป็นองค์ประกอบย่อยเท่านั้น สิ่งที่เราสนใจที่สุด คือ ตัวบริษัท ยอดขาย กำไร คู่แข่ง โครงสร้างธุรกิจต่างๆ ความพึงพอใจของลูกค้าต่อ ผลิตภัณฑ์หรือบริการของบริษัท ไม่มีใครรู้สึกว่า บริษัทตัวเองมูลค่าลดลงหรอกถ้ายอดขายและกำไรเติบโต ยกเว้นในตลาดหุ้นที่สามารถทำให้คนรู้สึกแบบนั้นได้ เราขอเล่าสิ่งที่ที่เราสนใจสุดที่ผ่านมาในปีแห่งความผันผวน

1. เราสนใจปัญหาด้าน Demand มากกว่าปัญหาด้าน Supply อย่างกรณีของ AAPL ที่ปลายปีมีปัญหาเรื่องโรงงานที่จีนมีการประท้วงและติดโควิดทำให้การผลิต iPhone 14 Pro และ ProMax ไม่สามารถส่งมอบได้ตามเป้าหมาย เราผิดหวังเช่นกันกับการเสียโอกาสที่จะขายของ ปัญหานี้เราทราบดีเพราะเราเองก็คอยติดตามการจองและซื้อขาย iPhone อยู่ตลอดเวลา แต่เรามองว่าเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องที่กระทบจริงแต่เป็นระยะสั้นเท่านั้น ด้วยการสนใจในการลงทุนระยะยาวเราเลยสนใจเรื่องพวกนี้น้อย


2. เราสนใจ ยอดขายที่เกิดจากการขายจริงมากกว่ายอดขายที่เกิดจาก Promotion ช่วงปีนี้เราเห็นคำว่า Sell Off , Markdown หรือ Promotion บ่อยมากที่ผ่านมาหลายๆบริษัทโดยเฉพาะ บริษัทในกลุ่มเสื้อผ้ากีฬา มี สต๊อกสูงขึ้นผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็น Nike Adidas Lululemon แม้กระทั่ง AMZN ก็มีข่าวเรื่องกำลังการผลิตหลายอย่างเกิน เช่นความสามารถในการส่งของเกินพอดี เรามักจะเทียบสต๊อกสินค้ากับหลายๆปีย้อนหลังเพราะบางครั้งสต๊อกในปีก่อนหน้าอาจจะต่ำกว่าปกติ เราสนใจแนวทางการจัดการกับสต๊อกของบริษัทเหล่านี้มากว่าจะจัดการด้วยวิธีการขายปกติ หรือว่าต้องลดราคาอย่างหนัก แล้วการลดราคานั้นจะทำลายชื่อเสียงแบรนด์หรือไม่ที่สำคัญบริษัทต้องมีปัญหานี้ชั่วคราวหรือมีซ้ำๆ หากมีซ้ำๆเราจะเริ่มกังวลเรื่องของความนิยมในตัวแบรนด์


3. เราสนใจความพึงพอใจลูกค้าในผลิตภัณฑ์หรือบริการของบริษัทที่เราวิเคราะห์ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ในช่วงที่ตลาดไม่ค่อยดีหากยอดขายของบริษัทเราลดลงน้อยกว่าคู่แข่งหรือว่ายังได้รับความนิยมมากกว่าคู่แข่งเป็นเรื่องสำคัญมากกว่าการดูการเติบโตของยอดขายทั่วไปเพราะในช่วงที่ไม่ดียอดขายในอุตสาหกรรมมักจะตกทั้งอุตสาหกรรมอยู่แล้ว


4. หากอุตสาหกรรมในบริษัทที่เราสนใจมีปัญหาเราจะวิเคราะห์ว่าอุตสาหกรรมนั้นยังเป็นอนาคตต่อไปอีกหรือไม่ และเทียบกับคู่แข่งแล้วปัญหาของบริษัทเรามากกว่าหรือน้อยกว่าอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น 4.1 E-commerce ของ AMZN ที่ยอดขายไม่เติบโตตามเป้าหมาย หรือมีผลขาดทุนในปีนี้เนื่องจากมี Supply ส่วนเกินมากเป็นสิ่งที่เราคาดการณ์คู่แข่งก็ได้รับผลกระทบเดียวกัน เราไม่กังวลในระยะยาว 4.2 NFLX เราเป็นกังวลกับการเติบโตที่ไม่ได้ตามเป้าหมาย เรายังเห็นว่าบริษัทยอดเยี่ยมถ้าเทียบกับกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน สตรีมมิ่งยังเป็นอนาคต และสตรีมมิ่งที่ดีที่สุดยังคงเป็น NFLX โดยห่างจากอันดับ 2 อย่างขาดลอยในทุกๆมิติ(ไม่ว่าจะยอดขาย รายได้ต่อหัว จำนวนชั่วโมงการดู ความสามารถในการผลิต Content ได้ในราคาถูกที่สุดเมื่อเทียบระหว่าง engagementต่อรายจ่าย Content) อันที่จริงเราไม่ทราบด้วยซ้ำว่าอันดับที่ 2 คือใคร แต่เราเป็นห่วงในเรื่องของการแข่งขันและการต้องสร้าง Content ใหม่อยู่ตลอดเวลา 4.3 FB เรามองว่าบริษัทเสียความสามารถในการแข่งขันไปมาก ลูกค้าที๋โปรโมท FB ไม่ได้ยอดลูกค้าเข้ามาเท่าเดิม ความสามารถในการเข้าถึงลูกค้าอย่างแม่นยำเสียไปอาจจะถาวร ทำให้ลูกค้าไม่สามารถขายของในเพจได้หรือขายได้ก็ไม่คุ้ม และเราเชื่อว่าคนใช้เวลากับ FB ต่อวันน้อยลง กรณีแบบนี้เรามองว่าเลวร้ายมากและไม่รู้ว่าจะกลับมาเหมือนเดิมได้หรือเปล่า


5. เราจะไม่กังวลนักถ้าหุ้นตกลง แต่บริษัทสามารถรักษา Demand ได้ดี ลูกค้ามีความต้องการสูง ลูกค้าพึงพอใจในผลิตภัณฑ์และบริการ คุณลองมองที่ผลิตภัณฑ์ของ AAPL และ iCloud สิมีใครอยากใช้ลดลงบ้างหรือเปล่า


6. เราจะไม่กังวลเลยถ้าหุ้นตกลง แต่บริษัทสามารถมียอดขายและกำไรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่าง Lulelemon , LVMH , Hermes ซึ่งแต่ละบริษัทยอดขายกำไรโตในระดับเกินกว่า 20% ซึ่งถือว่ายอดเยี่ยมมาก เราเพียงตรวจสอบให้มั่นใจว่าราคาที่เราซื้อไม่ได้แพงเกินไปเท่านั้น ในทางตรงข้ามเรายังมองว่าอาจจะเป็นโอกาสด้วยซ้ำสำหรับบริษัทใดๆก็แล้วแต่ที่ราคาลดลงแต่ผลการดำเนินงานดีขึ้น


7. ไม่มีการลงทุนใดก็แล้วแต่ที่บริษัทเติบโตขึ้นต่อเนื่อง ซื้อหุ้นคืน หรือปันผลเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แล้วการลงทุนนั้นจะขาดทุน

8. เราติดตามและสังเกตพฤติกรรมของรัฐบาลต่างๆตลอดเวลา ในบริษัทที่ยอดเยี่ยมมักจะไม่มีผลกระทบปกติใดๆสามารถเปลี่ยนแปลงความสามารถของมันได้ยกเว้นรัฐบาล ในกรณีนี้เรามองว่าไม่แม้แต่ประเทศจีน การเข้าสู่ยุค Deglobalizatiion ทุกประเทศมีแนวโน้มที่จะปกป้องประชนในประเทศตัวเองมากขึ้นมากโดยเฉพาะแถบยุโรป เราพยายามติดตามอย่างใกล้ชิดกับนโยบายของแต่ละประเทศซึ่งเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เราไม่ทราบจริงๆว่าสิ่งนี้จะส่งผลดีหรือไม่แต่เรามั่นใจว่า การกีดกันทางการค้าจะมีมากขึ้น

9. เราสำรวจตัวเองตลอดเวลา สิ่งที่ต้องระวังสำหรับนักลงทุนอย่างมากคือ อย่าเข้าข้างตัวเอง นักลงทุนที่ดีต้องสวนกระแสแต่มีเหตุผล (Contrarian) ในการคิดแต่ละอย่างเราต้องระวังว่าเรามีเหตุผลหรือว่าเอาแต่หาเหตุมาใส่ผลที่เราต้องการ และสิ่งที่เราคิดผิดเป็นสิ่งที่เกิดจากความบังเอิญหรือว่าเราประเมินผิดพลาด เรามองว่าในกรณีของ NFLX เราประเมินผิดพลาดเรื่องการเติบโตของ Subscriber แต่เรามองว่าเรื่องการประท้วงที่โรงงานในจีนของ AAPL จนทำให้ยอดขาย iPhone ไม่เป็นไปตามเป้าเป็นเรื่องบังเอิญ เป็นต้น

Cryptocurrency – มุมมองของเรา คือ การพนันที่ถูกกฎหมายและความฉ้อฉล

*Benchmark ที่เราใช้คือ ดัชนี Nasdaq 1 Dec 2021 – 30 Nov 2022 ปรับด้วยค่าเงินตามสกุลที่เราลงทุน (เราลงทุนใน US 70% และ Euro 30%) เราวัดผลการดำเนินงานของเราจากช่วงเวลา 1 Dec 2021 – 30 Nov 2022

ภาพรวมของตลาด

Nasdaq -26.19% 1 Dec 2021 – 30 Nov 2022

Euro 38.18 to 36.53 = -4.3% (30%)

Us 33.71 to 35.26 = 4.5% (70%)

Correct Currency = +1.8%

Correct Benchmark = -24.86%

บทความนี้เขียนตอนช่วงเดือน Dec 2022

ป.ล. ทางทีมงานตั้งใจเขียนจดหมายประจำปี เพียงเพื่อแชร์ประสบการณ์การลงทุนเท่านั้น ไม่ได้มีเจตนาจะชี้นำหรือแนะนำการซื้อหุ้นตัวใดๆ ขอให้ทุกท่านโชคดีในการลงทุนในปี 2023

 

ติดตาม และอ่านบทความอื่นๆของพวกเรา Frisbee & Co. ได้ที่ LINE Official: @frisbee Twitter: @FrisbeeCo Website: frisbeeandco.com

94 views0 comments

Comments


bottom of page